มัดรวมประเด็น "บอร์ดประกันสังคม" ผลเลือกตั้งครั้งแรกของไทย สำคัญอย่างไร ทำไมคนใช้สิทธิ์น้อย
เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับ “การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนทำงานจะได้มีโอกาสเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการใน “คณะกรรมการประกันสังคม” หรือ “บอร์ด สปส.” เพื่อดูแลงบประมาณและดูแลจัดการบริหารกองทุนประกันสังคม แล้วการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง Sanook มัดรวมทุกประเด็นมาฝากคนทำงานที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น
- ผลเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เฮดัง ๆ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ชนะ(เกือบ)ยกทีม
- 24 ธ.ค. 66 เตรียมตัว "เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม" คืออะไร ทำไมต้องเลือก ใครได้ประโยชน์
ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. เพื่อสรรหาตัวแทนฝ่ายนายจ้างและตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตน
โดยผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในส่วนของตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง มีดังต่อไปนี้
- นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ได้คะแนน 71,917 คะแนน
- นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ได้คะแนน 69,403 คะแนน
- นายชลิต รัษฐปานะ ได้คะแนน 69,264 คะแนน
- นายศิววงศ์ สุขทวี ได้คะแนน 69,256 คะแนน
- น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ ได้คะแนน 68,133 คะแนน
- นางลักษมี สุวรรณภักดี ได้คะแนน 67,113 คะแนน
- นายปรารถนา โพธิ์ดี ได้คะแนน 15,080 คะแนน
ในส่วนของผลการนับคะแนนตัวแทนฝ่ายนายจ้าง เป็นไปดังนี้
- ดร.มนตรี ฐิรโฆไท ได้คะแนน 409 คะแนน
- นางวิภาพรรณ มาประเสริฐ ได้คะแนน 403 คะแนน
- นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง ได้คะแนน 368 คะแนน
- นายสมพงศ์ นครศรี ได้คะแนน 319 คะแนน
- นายสุวิทย์ ศรีเพียร ได้คะแนน 315 คะแนน
- นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ ได้คะแนน 258 คะแนน
- น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล ได้คะแนน 252 คะแนน
ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อย
จากรายงานของสำนักงานประกันสังคม ระบุว่าภาพรวมของการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 934 แห่งทั่วประเทศ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้ประกันตนให้ความสนใจมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ประกันตนและนายจ้างที่ลงทะเบียนเลือกตั้งที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ทั้งหมด 958,819 คน แยกเป็นผู้ประกันตน ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 854,414 คน และฝ่ายนายจ้าง ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 3,129 คน
ทั้งนี้ นายจ้างมาใช้สิทธิ จำนวน 1,465 คน คิดเป็นร้อยละ 46.82 ขณะที่ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิ จำนวน 156,870 คน คิดเป็นร้อยละ 18.36
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า ค่อนข้างผิดหวังการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เนื่องจากตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิไม่ร้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ฝ่ายผู้ประกันตนมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 18 อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์ชี้ว่า ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้างอาจยังไม่เข้าใจ ว่าทำไมต้องไปแสดงตนในการขอใช้สิทธิเลือกตั้ง
“สปส. ใช้ทุกช่องทางในการสื่อสาร ส่งข้อความผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันนี้ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้มีสาระ 2 ปี เราหารือกันว่าครั้งหน้าจะต้องปรับวิธีการใช้สิทธิ ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มลงทะเบียน ใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปจนถึงการอธิบายสิทธิที่จะได้รับการจากการเลือกตั้ง”
“บอร์ดประกันสังคม” สำคัญอย่างไร
บอร์ดประกันสังคมเป็นคนที่จะเข้ามาดูแล “กองทุนประกันสังคม” ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเงินมากกว่า 2.3 ล้านล้านบาท และมีบทบาทสำคัญ ดังต่อไปนี้
- เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม
- พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ
- วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน โดนความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
- พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานประกันสังคม
- ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน
- ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมาย หรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย
ปัจจุบันนี้ มีกระแสข่าวว่ากองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล่มสลาย และอาจจะไม่มีเงินจ่ายให้ผู้ประกันตนหลังชราภาพ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคมทุกเดือน เนื่องจากหากกองทุนดังกล่าวล่มสลายจริง ก็แปลว่าจะไม่มีเงินจ่ายให้กับผู้จ่ายเงินประกันตน ดังนั้น การมีคณะกรรมการประกันสังคมที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่า เมื่อแก่ชราลง ก็ยังจะได้รับเงินส่วนนี้อยู่