Madre Brava เผยวิจัย คนไทยต้องการ "ลดกินเนื้อสัตว์" แต่โปรตีนทางเลือกยังราคาแพง
เชื่อหรือไม่ว่า “การกินเนื้อสัตว์” มีส่วนทำให้โลกร้อนได้เช่นกัน เหตุผลเป็นเพราะการผลิตอาหารก็เป็นการสร้างก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดได้เผยแพร่งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า “การทำปศุสัตว์” ต้องใช้พื้นที่มหาศาล นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ฟาร์มหรือพื้นที่ทางการเกษตร และเมื่อถามว่าโลกใบนี้ใช้พื้นที่เพื่อเลี้ยงสัตว์มากแค่ไหนกันเชียว องค์กรกรีนพีช ประเทศไทย ก็ระบุว่า “พื้นที่ทางการเกษตรในโลกนี้เกิน 80% คือพื้นที่ที่อุทิศให้ระบบการผลิตเนื้อสัตว์” จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการกินอาหารของมนุษย์นั้น “เนื้อสัตว์” มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุด
- "อากาศร้อนจัด" จาก "ภาวะโลกเดือด" ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตทั่วโลก
- นักวิทย์เตือน โลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ช่วง ก.ย. และยังร้อนได้อีกถ้าไม่ทำอะไรเลย
- “น้ำท่วม ไฟป่า อากาศร้อนจัด” เกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ Madre Brava องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ได้ทำการสำรวจแนวโน้มและทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 1,500 คน และได้ผลการวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่ง Sanook จะขอทำหน้าที่สรุปผลการวิจัยที่ว่าด้วยความต้องการ “ลดการกินเนื้อสัตว์” ของคนไทยในปัจจุบันนี้
คน 67% ต้องการลดการกินเนื้อสัตว์
หลังทำการสำรวจผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 1,500 คน โดยกลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลายของเพศ อายุ ภูมิภาค ที่อยู่อาศัย กลุ่มรายได้ การศึกษา โครงสร้างครอบครัว รวมถึงความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่ง Madre Brava พบว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถาม “ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ภายใน 2 ปี” ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ตามมาด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพของสัตว์
“จากตัวเลขล่าสุด เห็นชัดว่าผู้บริโภคไทยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ และตระหนักว่าการลดเนื้อสัตว์พร้อมการบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนจะมีผลดี” จักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Madre Brava กล่าว
44% ของผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ระบุว่าจะทดแทนเนื้อสัตว์ด้วยโปรตีนจากพืชต่างๆ เช่น ถั่ว งา เต้าหู้ เป็นต้น ขณะที่ 56% ชี้ว่าจะทดแทนด้วยโปรตีนทางเลือกและการผสมระหว่างโปรตีนทางเลือกกับโปรตีนพืชต่างๆ
โปรตีนทางเลือกต้องราคาถูกลง
แม้ผู้บริโภคจะตระหนักถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโปรตีนทางเลือกยังถูกมองว่า “ราคาแพง” และผ่านกระบวนการแปรรูปสูง เช่นเดียวกับเหตุผลที่ว่าด้วย “รสชาติ” ที่โปรตีนทางเลือกอาจรสชาติไม่ดีเท่ากับเนื้อสัตว์ หรือผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าโปรตีนทางเลือกผลิตมาจากอะไร ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนมองว่าโปรตีนทางเลือกไม่ได้มีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้ง่าย
“หากสามารถทำให้โปรตีนทางเลือกมีราคาถูกลง คนเข้าถึงได้ง่าย โปรตีนทางเลือกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในเมนูของร้านอาหารตามสั่ง นอกจากหมู ไก่ กุ้ง แล้วยังมีโปรตีนจากพืชให้เลือก คนที่อยากกินอาหารที่ให้รสชาติแบบเนื้อสัตว์อยู่ก็สามารถสั่งโปรตีนทางเลือกได้ หรือแม้แต่ผสมระหว่างโปรตีนทางเลือกกับเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งก็จะเป็นผลดีมากกว่าการกินเนื้อสัตว์อย่างเดียว” จักรชัย ระบุ
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการสนับสนุนให้้บริโภคโปรตีนทางเลือกมากขึ้น เช่นเดียวกับ “การลดภาษี” ที่จะทำให้สินค้าโปรตีนทางเลือกมีราคาถูกลง พร้อมหนุนให้เพิ่มการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก
โอกาสของภาคอุตสาหกรรมอาหารไทย
“ความต้องการลดเนื้อสัตว์และเพิ่มการกินโปรตีนทางเลือก ประจวบเหมาะกับความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาภูมิอากาศเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตโปรตีนจากสัตว์ นี่เป็นสัญญาณสำคัญให้ภาครัฐและเอกชนเห็นถึงประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ พร้อมกับนโยบายสนับสนุนส่งเสริมที่เหมาะสม ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางการบริโภคและแนวโน้มนโยบายการค้าในตลาดส่งออกของไทย” จักรชัย อธิบาย
ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 72% สนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อเกษตรกร โดยสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ ขณะที่ 70% ระบุว่าเห็นด้วยกับการปรับการจัดภาษีเพื่อให้โปรตีนทางเลือกมีราคาถูกลง เช่นเดียวกับการลงทุนกับสิ่งแวดล้อมและงานวิจัย ไปจนถึงการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภค และสร้างความเข้าใจตระหนักรู้ของประชาชนให้มากขึ้น
จักรชัย ระบุว่า หากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการผลิตโปรตีนจากพืชและโปรตีนทางเลือกอย่างจริง เพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก จะสอดรับกับทิศทางของตลาดภายใตและตลาดส่งออก เนื่องจากประเทศไทยเป็นทั้ง “ผู้ผลิตอาหาร” เพื่อบริโภคภายในประเทศและเป็น “ผู้ส่งออกอาหาร” สำคัญของโลก
“ประเทศไทยมีเทคโนโลยีด้านอาหาร เราเป็นผู้เล่นระดับต้นๆ ของโลก ยิ่งเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรและชนาดประเทศแล้ว ผมมองว่าประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ดังนั้น ถ้าเราต้องการพัฒนาต่อยอดด้านใด เราก็ควรพิจารณาถึงศักยภาพที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นในระดับสากลด้วย” จักรชัย กล่าวทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ