โฆษกอัยการ เผย เคส "เด็ก 14" กราดยิงพารากอน ต้องรักษาให้หายถึงดำเนินคดีได้

โฆษกอัยการ เผย เคส "เด็ก 14" กราดยิงพารากอน ต้องรักษาให้หายถึงดำเนินคดีได้

โฆษกอัยการ เผย เคส "เด็ก 14" กราดยิงพารากอน ต้องรักษาให้หายถึงดำเนินคดีได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โฆษกอัยการ ให้ความรู้ กม. เคส เด็ก 14 กราดยิงพารากอน กฎหมายระบุชัดต้องรอแพทย์รักษาจนหายเท่านั้น ถึงจะดำเนินคดีได้ อายุความ 20 ปี

จากกรณีที่นางศจีมาศ บัวรอด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดี และคณะทำงานอัยการได้ตรวจสำนวนคดีเด็กชาย 14 ปี กราดยิงในห้างดัง แล้วปรากฏรายงานการประเมินผลวินิจฉัยและตรวจรักษาในสำนวนการสอบสวนของคณะแพทย์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรักษา "เด็กชาย พ." ยังมีอาการป่วยและยังเป็นคนไข้ในของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้ส่งคืนสำนวน กลับไปให้พนักงานสอบสวนเพราะการสอบสวนในขณะที่เด็กชาย พ. ขณะยังป่วยอยู่ จึงเป็นการสอบสวนที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ถือเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ

ล่าสุด วันนี้ (31 ธ.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อพนักงานอัยการคืนสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวน ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไม่สามารถสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานได้จนกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหายป่วยและต่อสู้คดีได้

เพราะต้องทำตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 14 ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ว่าพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวนไว้ก่อน จนกว่าที่ผู้ต้องหาจะหายจากอาการป่วย และต่อสู้คดีได้ โดยจะต้องรอการประเมินการตรวจรักษาของแพทย์เท่านั้น

ดังนั้นในวันนี้ (31.ธ.ค.) เมื่อครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย ก็ต้องปล่อยตัวเด็กจากการควบคุมของสถานพินิจฯ ซึ่งขณะนี้ตัวเด็กแม้พ้นจากอำนาจคุมตัวเนื่องจากครบกำหนดผัดฟ้อง แต่ตัวเด็กจะยังไม่ได้ปล่อยตัวเพราะแพทย์จะสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551

คณะแพทย์และกลุ่มสหวิชาชีพจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์สามารถประสานผู้ปกครองเด็กเพื่อรับตัวไปบำบัดรักษา หรือแพทย์อาจบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 และ 36 ได้ โดยสามารถรับผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อได้

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาเด็กและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็กและสังคม จากนั้นทางแพทย์จะมีการส่งผลประเมินให้กับพนักงานสอบสวน ทราบทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายสู่สภาวะปกติ แต่ถ้าเด็กหายป่วยก่อนกำหนด 180 วัน ก็สามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบได้ทันที เพื่อจะหยิบยกคดีขึ้นทำการสอบสวนต่อไป โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 ต.ค. 2586

มีปัญหาว่าสุดท้ายจะต้องปล่อยตัวเด็กอายุ 14 ไปหรือไม่ เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณา 3 ฉบับ คือ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องงดการสอบสวนไว้เมื่อได้ความว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กป่วยและไม่สามารถต่อสู้คดีได้

ทั้งนี้ จนกว่าจะมีผลประเมินการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์และสหวิชาชีพว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหายป่วยและต่อสู้คดีได้แล้วเท่านั้น และกฎหมายฉบับที่สองคือ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชน พ.ศ.2553 มาตรา 78 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องครั้งที่ 4 ในวันที่ 31 ธ.ค.นี้

ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานอัยการไม่สามารถที่จะพิจารณาสำนวนหรือสั่งฟ้องได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว เนื่องจากมีการตีกลับสำนวนเพราะการสอบสวนไม่ชอบ จึงส่งผลให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเด็กของสถานพินิจสิ้นสุดลงด้วย

และ 3. ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ม.22 และ 36 ที่ให้อำนาจ คณะแพทย์และสหวิชาชีพด้านจิตเวชของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่บำบัดรักษาผู้ต้องหาที่เป็นเด็กมาแต่แรก สามารถควบคุมเด็กไว้เพื่อบำบัดรักษาต่อได้จนกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กจะหายป่วย

แต่ทั้งนี้คณะแพทย์และสหวิชาชีพจะต้องรายงานผลการบำบัดรักษาให้พนักงานสอบสวนทราบทุก 180 วัน ซึ่งการรับตัวไว้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 เพราะคณะแพทย์และสหวิชาชีพเห็นว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังป่วยและต่อสู้คดียังไม่ได้ และจะต้องได้รับการบำบัดรักษาเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวน้องเองและบุคคลอื่นนั่นเอง

ทราบแนวทางการบำบัดรักษาในครั้งนี้จากหนึ่งในทีมที่บำบัดรักษาได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือกระบวนการทำงานของกลุ่มแพทย์และสหวิชาชีพ ที่บำบัดรักษาน้องไม่เพียงแต่จะบำบัดรักษาให้น้องหายป่วยเท่านั้น แต่ยังต้องวิเคราะห์หาสาเหตุการก่อเหตุ ตามหลักนิติจิตเวชเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไข การก่อเหตุซ้ำอีกด้วย

โดยพรุ่งนี้จะมีการพูดคุยระหว่างทีมคณะแพทย์และสหวิชาชีพที่บำบัดรักษาน้องผู้ป่วยกับผู้ปกครอง และทางสถานพินิจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ผลคืบหน้างานโฆษกจะแถลงให้ทราบต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook