ทำความรู้จัก "ลัทธิโยเร" ว่าด้วยพลังแสงจากฝ่ามือช่วยรักษาอาการโรคภัย
ชื่อของ “ลัทธิโยเร” กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังสัตวแพทย์หญิงจบชีวิตตัวเองและลูกสาววัย 12 ปี พร้อมด้วยนกเลี้ยงอีก 2 ตัว โดยทิ้งจดหมายสั่งเสียให้นำร่างของตนและลูกสาวกับนกใส่โลงเดียวกัน และทำการเผาทันที ก่อนที่สามีของผู้ตายจะออกมาเปิดเผยถึงภาวะซึมเศร้าและการไปนับถือลัทธิโยเรของภรรยา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชื่อของลัทธิโยเรปรากฏอยู่ในหน้าข่าว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดกรณีแม่วัย 51 ปี นั่งเฝ้าศพลูกชายที่เสียชีวิตมานานกว่า 4 วัน โดยไม่นำศพลูกไปประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งข่าวนี้ก็มีการระบุถึงลัทธิโยเรเช่นกัน
- สลด สัตวแพทย์ซดไซยาไนด์ดับพร้อมลูกสาว 12 ขวบ ทิ้ง จม.ลา-เงิน 1 แสน
- สามีเผยคลั่งลัทธิ สัตวแพทย์ซดไซยาไนด์ ดับพร้อมลูก 12 ขวบ ทิ้งจดหมายสั่งห้ามสวดศพ
แล้ว “ลัทธิโยเร” ที่กำลังพูดถึงกันนี้คืออะไร เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จัก “ลัทธิโยเร” ลัทธิที่เชื่อว่าแสงจากฝ่ามือจะช่วยรักษาโรคภัย อาการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจได้
ลัทธิโยเร คืออะไร
ลัทธิโยเร หรือ ลัทธิเซไกคีวเซ เป็นลัทธิศาสนาใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โดยเกิดจากการผสมผสานความเชื่อของลัทธิชินโด ศาสนาพุทธนิการมหายาน และหลักจริยธรรมสากล ก่อตั้งโดย โมกิจิ โอกาดะ เมื่อปี พ.ศ.2478 อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้สงคราม ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2490 ลัทธิโยเร เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นมูลนิธิ คาซูโอะ-ซูรุ วาคุกามิ
ลัทธิโยเร มาจากคำว่า "โย" แปลว่า ชำระล้าง และ "เร" แปลว่า จิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ "โยเร" จึงหมายถึงชำระล้างทางจิตวิญญาณ โดยลัทธิโยเรมีความเชื่อเรื่องการส่งพลังแสง (หรือแสงทิพย์) ผ่านฝ่ามือสู่ร่างกาย เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ และยังมีแนวปฏิบัติอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องความงาม ศิลปะจากธรรมชาติ ทั้งนี้ คำสอนหลักของลัทธิโยเรคือการทำความดี และต้องชักชวนลูกหลานให้มาร่วมเป็นสาวก
สื่อญี่ปุ่นเคยออกมาเตือนเรื่องลิทธิโยเร ระบุว่าเป็นลัทธิอันตราย ซึ่งประเทศญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรปต่างเฝ้าระวังลัทธิดังกล่าว โดยกล่าวหาว่าคำสอนหลายอย่างของลัทธิโยเรเข้าข่ายการล้างสมอง
ลัทธิโยเรในประเทศไทย
จากข้อมูลของเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุว่า ลัทธิโยเรเข้าสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2511 โดย คาซูโอะ วากูกามิ เริ่มต้นจากการเผยแพร่คำสอนโดยการแปลเอกสารทางศาสนา และก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมในประเทศไทย จดทะเบียนในชื่อ “มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา” ต่อมากรมศาสนาได้รับรองให้มูลนิธิเป็นองค์กรศาสนาย่อยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน มีการเผยแพร่ศาสนาและมีศาสนิกชนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม กรมศาสนาได้เพิกถอนสถานะการเป็นนิกายของศาสนาพุทธนิกายมหายาน จึงถูกลดสถานะกลับไปเป็นมูลนิธิ โดยปัจจุบัน ลัทธิโยเรมีศาสนสถานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี เรียกว่าองค์การศาสนาเซไคคิวเซเคียวประจำประเทศไทย (หรือหอเซจิ)
การเข้าร่วมลัทธิ
ผู้ที่จะเข้าร่วมลัทธิโยเรต้องเข้ารับ จี้โอฮิการิ หรือเรียกว่า “การรับพระ” ซึ่งมีค่าใช้จ่าย และต้องปฏิบัติศาสนกิจ เรียกว่า “กิจกรรมพระ” รวมถึงต้องเผยแพร่ศาสนาเพื่อเพิ่มจำนวนศาสนิกชนให้มากขึ้น หลังจากนั้น สาวกลัทธิโยเรต้องพกพระโยเรติดตัวเอาไว้ และจะสามารถปล่อยแสงทิพย์ออกจากมือเพื่อรักษาโรคได้
นอกจากนี้ สาวกของลัทธิโยเรจะถูกแบ่งเป็นหลายระดับ โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังต่อไปนี้
- ระดับศาสนิกชน คือ บุคคลที่เพิ่งเข้าสู่ลัทธิโยเรได้ไม่นาน
- ระดับเซวานิน คือ บุคคลที่เข้าลัทธิได้ 1 - 2 ปี มีหน้าที่ดูแลศาสนิกชนที่เพิ่งเข้ามา และต้องชักชวนบุคคลอื่นเข้าสู่ลัทธิ
- ระดับไฮเคียว คือ บุคคลที่เข้าลัทธิ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเข้ามาประกอบกิจของลัทธิเป็นประจำ
- ระดับภูไคอิน คือ บุคคลระดับสูง เข้ามาประกอบกิจลัทธิบ่อยครั้ง ทั้งยังมีความเลื่อมใสในลัทธิอย่างสูงส่ง
- ระดับเคียวไคโจ คือ สาวกระดับอาจารย์ จะมีแค่ 1 คนต่อสาขา ต้องเป็นผู้ละทางโลก และเป็นคนสอนคำสอนให้กับสาวก
การเข้าร่วมลัทธิโยเรนั้น ไม่ใช่ใครก็สามารถเข้าได้ง่ายๆ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมลัทธิ และต้องเข้ามาร่วมประกิบกิจของลัทธิเป็นประจำ ทั้งนี้ ลัทธิโยเรยังคงทำกิจกรรมสนับสนุนทุนการศึกษาศาสนาพุทธให้แก่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี และการต่อต้านยาเสพติด รวมไปถึงการปรับปรุงวิธีการเผยแผ่ศาสนาด้วยการสนับสนุนสถาบันหลักและวัฒนธรรมไทย