"ปรีดี พนมยงค์" คือใคร สำคัญกับการเมืองไทยอย่างไร ทำไมคนรออ่าน "จดหมายปรีดี"
ปี พ.ศ.2567 ถือเป็นอีกปีสำคัญของคอการเมืองของไทย เมื่อปีนี้ถือเป็นปีสำคัญที่ “จดหมายปรีดี” ซึ่งถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุฝรั่งเศส จะถูกเปิดอ่านเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี และทำให้ชื่อของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในแกนนำ “คณะราษฎร” ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง
- "จดหมายปรีดี" คืออะไร ทำไมหลายคนรอเปิดซองอ่าน “ประวัติศาสตร์” ของไทยขนาดนี้?
- “ปรีดี พนมยงค์” กับ 5 หมุดหมายของชีวิตที่ส่งผลต่อประเทศไทย
- เพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” กับกลยุทธ์ “โหนกระแส” เพื่อเล่าประวัติศาสตร์
แต่สำหรับหลายคนที่ไม่ค่อยได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด ก็อาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจว่าทำไม “ปรีดี พนมยงค์” จึงมีบทบาทสำคัญกับการเมืองไทย Sanook พาทุกคนทำความรู้จัก “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่เผชิญมรสุมชีวิตจนต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น
“ปรีดี พนมยงค์” คือใคร
ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม คือนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง นักการทูต และอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เขาเป็นบุคคลสำคัญในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2475 ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธนา เป็นบุตรคนที่ 2 ในพี่น้องทั้งหมด 8 คน ของนายเสียงและนางลูกจันทร์ พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศาลาปูน และเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงเข้าไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ตอนอายุ 19 ปี และได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย ฝ่ายนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส
ปรีดี พนมยงค์ สมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข (ณ ป้อมเพชร) พนมยงค์ ในปี พ.ศ.2471 มีบุตร-ธิดา รวม 6 คน และถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 รวมอายุได้ 83 ปี
ผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร”
ระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ และในประเทศอื่นๆ ก่อตั้งสมาคมชื่อว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ได้มีการพบปะพูดคุยกับนักเรียนไทยหัวก้าวหน้า จนเกิดแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยปรีดีได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประชุมก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2470 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมครั้งแรก ประกอบด้วย
- ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี
- ร.ท.แปลก ขีตตะสังขะ (จอมพล ป.)
- ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี
- นายตั้ว ลพานุกรม
- หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)
- นายแนบ พหลโยธิน
- นายปรีดี พนมยงค์
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ปรีดีร่วมกับสมาชิกคณะราษฎร ปฏิวัติการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นปรีดีก็ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราม เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม
บทบาททางการเมือง
ปรีดีเข้าดำรงตำแหน่งว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี พ.ศ.2476 หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ปรีดีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” กระทั่ง ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1 ในปี พ.ศ.2489 ภายหลังที่พันตรีควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี เกิดแพ้มติเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน อย่างไรก็ตาม ปรีดี พร้อมคณธรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2489 ถือเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ปรีดีได้รับการสนับสนุนให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 แต่ระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยพระแสงปืน ปรีดีจึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489 อย่างไรก็ตาม ปรีดีถูกโจมตีอย่างหนักจากประชาชน จนถูกกล่าวหาว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” รัฐบาลจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน และปรีดีก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2489 รวมระยะในตำแหน่ง 2 สมัย 4 เดือน 27 วัน
ผลงานสำคัญของปรีดี
ปรีดีเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศหลายด้าน และมีผลงานสำคัญหลายด้าน ทั้งด้านนิติบัญญัติและการวางรูปแบบในระบอบประชาธิปไตย โดยปรีดีได้รับสมญาว่าเป็น “มันสมองของคณะราษฎร” และเป็นผู้ร่างหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ
นอกจากนี้ ปรีดียังเป็นผู้สถาปนา “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ปรีดียังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ขององค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือ “ขบวนการเสรีไทย”
ขบวนการเสรีไทยของปรีดี ทำให้ฝ่านสัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องถูกยึดครอง ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองยามคับขัน ปรีดีจึงได้รับยกย่องให้เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” ถือเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย
ลี้ภัยทางการเมือง
หลังการรัฐประหารของพลโทผิณ ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารพยายามจับกุมปรีดีและครอบครัว แต่พวกเขาสามารถหลบหนีออกนอกประเทศไปยังสิงคโปร์ได้ และได้อาศัยอยู่ที่นั่น 2 ปี ก่อนลี้ภัยไปประเทศจีน เป็นเวลา 21 ปี และไปใช้ชีวิตในวัยชราที่ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 รวมอายุได้ 83 ปี
ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งประเทศไทย เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เมื่อปี พ.ศ.2543