Earth Hour รวมพลคนไทย ปิดไฟให้โลกพัก พร้อมกับ 126 ประเทศ

Earth Hour รวมพลคนไทย ปิดไฟให้โลกพัก พร้อมกับ 126 ประเทศ

Earth Hour รวมพลคนไทย ปิดไฟให้โลกพัก พร้อมกับ 126 ประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โครงการ Earth Hour รวมพลคนไทย ปิดไฟ...ให้โลกพัก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมกับ 126 ประเทศ

ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เวลา 2 ทุ่มครึ่ง ถึง 3 ทุ่มครึ่ง กว่า 4,000 เมือง ใน 126 ประเทศ พร้อมใจปิดไฟ...ให้โลกพัก พร้อมกันทั่วโลก สร้างปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก จากชุมชนเล็กๆ กลางกรุงริโอ เดอ จาเนโร ไปถึงเมืองใหญ่ลอสแอนเจลิส และทั่วกรุงเทพมหานครถึง เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และนนทบุรี ผู้คนกว่า100 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก พร้อมใจกันเพื่อแสดงพลังในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โลกของเราได้หยุดพัก ด้วยการลดการใช้พลังงานและใช้เท่าจำเป็น

นายตรีรัช ภูคชสารศีล ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย กล่าวว่า "การจัดกิจกรรมนี้เพื่อต้องการเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้ และใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ผ่านจุดสัญลักษณ์การปิดไฟ 1 ชั่วโมง พร้อมกันทั่วโลก ปีนี้เป็นก้าวแรกของประเทศไทยที่ได้มีการขยายการรณรงค์ไปยังจังหวัดใหญ่ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามาก แม้ว่าการปิดไฟ 1 ชั่วโมง ของทั้ง 2 จังหวัดจะไม่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก แต่กิจกรรม Earth Hour ก็จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและการประหยัดพลังงาน รวมไปถึงเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ได้เริ่มต้นในกิจกรรมนี้สำหรับปีต่อไปด้วย"

ถึงแม้ทางกรุงเทพมหานครจะงดการจัดกิจกรรมใหญ่ปิดไฟครั้งนี้แต่การเดินหน้ารณรงค์ประชาสัมพันธ์พร้อมกับหน่วยงานและองค์กรที่ร่วมสนับสนุนในกิจกรรมดังกล่าว ให้ประชาชนช่วยกันปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็ทำให้คนกรุงเทพมหานครพร้อมใจกันปิดไฟ เรืออากาศโทอิราวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าจะไม่มีการจัดกิจกรรมใหญ่ในปีนี้ แต่ทางกรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันปิดไฟพร้อมกับหลายเมืองทั่วโลก ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 1,620 เมกกะวัตต์ เท่ากับเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ถึง 1,003 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,800,000 บาท ในปีนี้แม้ว่าจะไม่สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายแต่ยังสามารถลดปริมาณการใช้ได้มากกว่าในปีที่ผ่านมา โดยทางกรุงเทพมหานครขอขอบคุณทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนช่วยกันปิดไฟในดวงที่ไม่จำเป็นต่อไป"

นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น "ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันจัดกิจกรรมปิดไฟ...ให้โลกพัก เพื่อช่วยกันลดการใช้พลังงาน โดยจังหวัดขอนแก่นมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้พร้อมกับทั่วทุกมุมโลกที่แสดงถึงการรวมพลังเพื่อที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ที่ใช้พลังงานจำนวนมาก จึงเป็นจุดริเริ่มที่ดีในการให้ความรู้กับประชาชนในการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เท่าที่จำเป็น" ทั้งนี้ในการปิดไฟ 1 ชั่วโมงของจังหวัดขอนแก่นสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 35 เมกกะวัตต์ คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 10,157 กิโลกรัม คิดเป็นการปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12000 BTU จำนวน 13,762 เครื่อง เท่ากับการปิดหลอด 36 วัตต์ จำนวน 55,048 หลอด

นายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า "การจัดกิจกรรมนี้เพื่อให้ประชาชนตระหนักเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกและทรัพยากรชีวภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ชาวเชียงใหม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และกิจกรรมนี้ยังสอดคล้องกับอีก 125 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น" ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมปิดไฟของจังหวัดเชียงใหม่ หน้าลานอุทยานการค้า
กาดสวนแก้วยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ "บันทึกโลกร้อน ประเทศไทย 2553" และศิลปิน บีม-กวี ตันจรารักษ์ เข้าร่วม พร้อมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนและประชาชนจำนวนมากร่วมกันนับถอยหลังในการปิดไฟดังกล่าว โดยการปิดไฟของจังหวัดเชียงใหม่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 46.3 เมกกะวัตต์ เท่ากับการปิดหลอด 36 วัตต์ จำนวน 72,757 หลอด

ในปีนี้มีหลายภาคส่วนที่ร่วมสนับสนุนในกิจกรรม Earth Hour 2010 อาทิเช่น บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), คลื่นวิทยุ กรีนเวฟ 106.5 FM พร้อมผู้ร่วมสนับสนุนอีกกว่า 130 องค์กร อาทิเช่น กระทรวงพลังงาน, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ, บีทีเอส, การบินไทย, บริษัท ไมโครซอฟ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอ็ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด, บริษัท แคนนอน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โกลเด้นโบล์ จำกัด, บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด, บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด, บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เต็ตตรา แพค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน), สถานีวิทยุ Cool 93, เวบไซด์ sanook.com, pantip.com, pixpros.net, hanumanphotos.com, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7, สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สำนักโยธา, สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, สยามพารากอน, คาร์ฟูร์, อาคารสูง, เอสซีจี เปเปอร์ โตโยต้ามอเตอร์, สมาคมโรงแรมไทย รวมถึงศิลปินดาราจาก RS, แกรมมี่, AF, พร้อมทั้งช่องทีวีที่ร่วมประชาสัมพันธ์ โมเดิร์นไนน์ทีวี, สทท.และไทยพีบีเอส เป็นต้น

"หลายคนถามเข้ามามากว่า โครงการ Earth Hour จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือกับการรณรงค์แค่ปิดไฟ 1 ชั่วโมง อันนี้ต้องขอตอบให้ชัดๆ ว่า จริงๆ แล้ว Earth Hour เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่กระตุ้นให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นเวทีที่ให้ทุกคนแสดงพลังในการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ทาง WWF ได้มีแผนการดำเนินงานในกิจกรรมประหยัดพลังงานที่เข้มข้นกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต และหลังจากการจัดกิจกรรมปิดไฟในครั้งนี้แล้ว เรายังคงเดินหน้ารณรงค์ไปยังอีกหลายจังหวัดพร้อมทั้งทำแผนประหยัดพลังงานกับหน่วยงานต่างๆต่อไป" นายตรีรัช ภูคชสารศีล ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นี้ เวลาสองทุ่มครึ่ง ถึงสามทุ่มครึ่ง ทุกคนได้ร่วมแสดงพลังในการเปลี่ยนแปลงแล้วพร้อมกับหลายประเทศทั่วโลก และเรายังคงยืนหยัดในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการะปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นทุกวัน


You can take a stand and against Climate Change Everyday

ข้อมูล Earth Hour

Earth Hour Campaign หรือ โครงการปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 โดย WWF ประเทศออสเตรเลีย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชน พร้อมใจกันปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อสร้างจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผลจากการรณรงค์ในครั้งแรกได้รับความร่วมมือจากประชนชนจำนวนกว่า 2.2 ล้านคน และผู้ประกอบการกว่า 2,000 ราย สามาถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 10.2% ซึ่งเทียบได้กับปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่จะลดลงไปถึง 48,000 คันต่อปี

จากความสำเร็จในการทำกิจกรรมรณรงค์ไปทั่วโลก เมื่อปี พ.ศ. 2551 นำไปสู่การรณรงค์ในวงกว้างที่หลายๆ ประเทศต้องการเข้าร่วมในการโครงการรณรงค์ ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2552 เวลา 20.30 - 21.30 น. มีเมืองใหญ่จากทั่วโลกเข้าร่วมจำนวน 4,000 เมือง จาก 88 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวจำนวนกว่า 100 ล้านคน

ประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการ Earth Hour อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นที่มหานครใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร สำหรับในปีนี้ประเทศไทย ได้ขยายการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไปตามจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook