โซเชียลผุด #ยกเลิกครูเวรกี่โมง คืนความปลอดภัยให้ครู หลังชายบุกทำร้ายครูผู้หญิงเข้าเวรวันหยุด
ถือเป็นเหตุการณ์น่าตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อครูผู้หญิงคนหนึ่งที่มาปฏิบัติหน้าที่ “เข้าเวร” ในโรงเรียนช่วงวันหยุด ถูกชายบุกเข้ามาทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส ขณะที่กล้องวงจรปิดสามารถจับภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ได้ จนสร้างความกังวลให้กับคนในสังคม และกลายเป็นการพูดคุยบนโลกออนไลน์จนเกิด #ยกเลิกครูเวรกี่โมง เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการยกเลิก “ระเบียบการอยู่เวรยามของครู” คืนความปลอดภัยให้กับครูผู้มีหน้าที่สอนหนังสือ
- ผลสำรวจครูไทย ขอปรับปรุงห้องน้ำ ไม่ชอบชุดประจำวัน ยกเลิกประกันเกรด และลดภาระงาน
- สรุปนโยบายศึกษาฯ ใต้ปีก “เพิ่มพูน ชิดชอบ” แจกแท็บเล็ต ลดภาระ ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง
- ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู
ประเด็นเรื่อง “ครูเวร” เป็นเรื่องที่คุณครูออกมาส่งเสียงและสะท้อนปัญหาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีเสียงตอบรับหรือการขยับทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งเกิดเหตุการณ์อุกอาจที่สร้างความตกใจให้กับสังคม Sanook สรุปประเด็น #ยกเลิกครูเวรกี่โมง เพื่อทำความเข้าใจปัญหาของครูไทย ที่คนในสังคมอาจไม่เคยรับรู้หรือไม่เข้าใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการการศึกษาไทยที่มีความสำคัญกับทุกคน
ครูผู้หญิงโดนชายบุกทำร้ายในโรงเรียน
วันเสาร์ที่ผ่านมา (20 ม.ค. 67) เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนในสังคม หลังมีรายงานคนร้ายบุกเข้าไปทำร้ายครูผู้หญิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายในโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยกล้องวงจรปิดสามารถบันทึกเหตุการณ์ได้ทั้งหมด พบว่าผู้ก่อเหตุถือปืนเข้ามาจับตัวครูผู้หญิง ก่อนจะกดลงกับพื้นและทุบไปที่ตัวครูอย่างแรงหลายครั้ง จนครูผู้หญิงมีบาดแผลปากแตก และกระดูกซี่โครงหัก 3 ซี่
จากการสอบสวนพบว่าผู้ก่อเหตุได้เข้ามารับจ้างตัดต้นไม้ในโรงเรียนได้ประมาณ 3 สัปดาห์แล้ว แต่มาก่อเหตุกับครูผู้หญิงคนดังกล่าวที่มาเข้าเวรในวันหยุดเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อเหตุได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเบื้องต้นรับสารภาพว่าทำร้ายครูจริง เนื่องจากถูกครูเข้ามาทำร้ายร่างกายก่อน จึงบันดาลโทษะเป็นเหตุให้ทำร้ายร่างกาย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำการสอบสวนผู้ต้องหาอย่างละเอียด รวมถึงครูผู้หญิงที่ได้รับบาดเจ็บต่อไป
ชาวเน็ตเดือด ร้องคืนความปลอดภัยให้ครู
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวเน็ตในโลกออนไลน์เข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่อง “ครูเวร” กันอย่างหนัก โดยประเด็นเรื่องการอยู่เวรยามของครูทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน เป็นประเด็นที่กลุ่มคนในแวดวงการศึกษาได้ออกมาสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาอย่างยาวนาน เนื่องจากการอยู่เวรยามมีความเสี่ยงและอยู่นอกเหนือจากหน้าที่ของครู ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาครูเวรถูกทำร้ายเคยเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่กลับไม่มีท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเข้ามาแก้ไขระเบียบการดังกล่าวเลย
เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ครูวันดีดอทคอม - เปิดสอบครู สมัครงานราชการ” ก็ได้ออกมาร่วมเรียกร้องในประเด็นเรื่องการอยู่เวรยามของครู โดยโพสต์ข้อความ ระบุว่า “ยกเลิกให้ครูมาอยู่เวร ทั้งกลางวัน และกลางคืน ถึงเวลาหรือยัง ที่จะยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ #เลิกให้ครูมาอยู่เวร #ครูเวร #ยกเลิก” ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาเรื่องครูเวรก็ทำให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์ เมื่อชาวเน็ตร่วมกันติด #ยกเลิกครูเวรกี่โมง เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกระบบครูเวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าตกใจเหมือนกับกรณีของครูผู้หญิงของโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย พร้อมเรียกร้องให้คืนเวลาสอนให้กับครูผู้สอน แทนที่จะมาทำหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ที่แท้จริงของครู
ทำไมต้องมี "ครูเวร"
การปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรของครูทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2542 ที่ระบุให้สถานที่ราชการทุกแห่ง ต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการหรือหน่วยงานนอกเวลา และในวันหยุดราชการตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อดูแลป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการหรือหน่วยงานจากกรณีต่างๆ
โดยหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ มีดังต่อไปนี้
กพฐ. เล็งคืนตำแหน่งนักการภารโรง
ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาพูดถึงกรณีชายทำร้ายครูเวร ระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ทราบเรื่อง และเข้าใจในความกังวลใจของครูทั่วประเทศที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่เข้าเวร ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2542 จึงได้กำหนดนโยบายลดภาระครู เพื่อให้ครูได้ทุ่มเทเวลาในการสอนและเตรียมการสอนอย่างเต็มที่ พร้อมสั่งการให้ สพฐ. ขอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคืนอัตรานักการภารโรง 14,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรง ที่จะสามารถช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับโรงเรียน โดย สพฐ. ได้จัดทำคำขอต่อ ครม. ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก็มีนักการเมืองและบุคคลในแวดวงการศึกษาได้ออกมาเคลื่อนไหวและร่วมวิพากษ์วิจารณ์ระเบียบการอยู่เวรยามของกระทรวงที่ไม่จำเป็นและเป็นอันตรายต่อครู เช่น ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ครูถูกทำร้ายระหว่างอยู่เวร โดยปารมีเรียกร้องให้ยกเลิกการนอนเวรของครู ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงต้องอาศัยการแก้ไขมติ ครม. พร้อมระบุถ้าฝ่ายบริหารมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาภาระงานครูและปัญหาครูนอนเวร ก็สามารถลงนามทำได้ทันที
ขณะที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็แสดงความคิดเห็นผ่าน X ระบุว่า ครูนอนเวรเพียงคนเดียวไม่ได้เป็นประโยชน์ แต่ยังเป็นโทษ เนื่องจากคนร้ายสามารถวางแผนเข้ามาปล้นทรัพย์ได้ง่ายมาก ดังนั้น ต้องเลิกให้ครูเสี่ยงนอนเวร และติดตั้งกล้องวงจรปิดเชื่อมกับโรงพักแทน ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้ทันที หากแก้ไขมติ ครม. ปี 2542 เท่านั้น นอกจากนี้ วิโรจน์ยังได้ท้าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาลองไปนอนเวรที่โรงเรียนอีกด้วย