รู้หรือไม่? มีวิธีแยก "น้ำแข็ง" ก้อนไหนทำมาจากน้ำต้ม-น้ำกรอง ดูด้วยตาเปล่าก็รู้ทันที!
รู้หรือไม่…? สี ความใส ระยะเวลาที่ละลาย ช่วยแยกแยะระหว่างน้ำแข็งที่ทำจากน้ำต้ม กับน้ำที่ไม่ได้ต้มฆ่าเชื้อ
น้ำแข็งที่ใช้สำหรับเครื่องดื่ม เช่น สมูทตี้ น้ำผลไม้ เบียร์ ย่อมต่างจากน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหาร ต้องใช้คุณภาพน้ำที่สูงมากเพื่อความปลอดภัย สำหรับคนที่ชื่นชอบการดื่มอาจตัดสินใจซื้อเครื่องสำหรับทำน้ำแข็งโดยเฉพาะ ในขณะที่หลายๆ คนอาจใช้น้ำจากเครื่องกรองมาทำเป็นน้ำแข็ง แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เลือกต้มน้ำเพื่อฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ก่อนนำมาทำน้ำแข็ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่รู้วิธีแยกแยะระหว่างน้ำแข็งที่ทำจากน้ำที่ผ่านการต้มมาแล้ว กับที่ทำมาจากน้ำซึ่งยังไม่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อ ในความเป็นจริงรู้หรือไม่ว่า…. สี ความใส ระยะเวลาที่ละลาย ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถแยกแยะความแตกต่างของน้ำแข็งเหล่านั้นได้
ตามข้อมูลของ Scienceabc แม้ว่ามองเผินๆ อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าสังเกตสักนิดก็จะสามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่า จาก “สีและความใส” น้ำแข็งที่ทำจากน้ำต้มสุก เมื่อแช่แข็งแล้วมักจะใสและเรียบเนียน นั่นเป็นเพราะฟองอากาศและสิ่งสกปรกบางส่วนถูกกำจัดออกไปในระหว่างกระบวนการต้มจนเดือด
ในทางตรงกันข้าม น้ำแข็งที่ทำจากน้ำประปาซึ่งไม่ได้ถูกต้มฆ่าเชื้อ มักมีสีขาวขุ่น เพราะยังมีสิ่งเจือปนอยู่มาก แม้ว่าสิ่งเจือปนที่ละลายในน้ำจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อแช่แข็งแล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะสะสมรวมกัน ส่งผลให้ก้อนน้ำแข็งขุ่นนั่นเอง
สิ่งเจือปนที่พบบ่อยที่สุดที่พบในน้ำที่ไม่ได้ต้ม ได้แก่ แคลเซียม ฟลูออไรด์ ไนเตรต แมกนีเซียม และองค์ประกอบอินทรีย์อื่นๆอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถกำจัดออกด้วยวิธีกรองแบบเดิมๆ เมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง สิ่งเจือปนที่กระจายอยู่ในน้ำ ก็มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันกระจุกอยู่ตรงกลาง ทำให้ก้อนน้ำแข็งมีสีขาวขุ่นอยู่ตรงกลาง
“สิ่งเจือปน” ไม่ได้หมายถึงเชื้อโรคหรือแบคทีเรียเสมอไป สิ่งอื่นใดนอกจากน้ำที่มีอยู่ในน้ำถือได้ว่าเป็นสิ่งเจือปน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อันที่จริงบางส่วนเช่น แคลเซียมและแมกนีเซียม มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย อีกทั้งสิ่งเจือปนต่างๆ ยังทำให้น้ำมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์อีกด้วย
นอกจากการอาศัยการมองสีและความใสของน้ำแข็งแล้ว เรายังสามารถแยกแยะได้จาก “ความสามารถในการละลาย” อีกด้วย อาจฟังดูซับซ้อนแต่จริงๆ แล้วสังเกตได้ง่ายมาก!
น้ำแข็งที่ทำจากน้ำต้มได้ขจัดฟองอากาศและสิ่งสกปรกออกไป ดังนั้นโครงสร้างจึงแข็งมากขึ้นและคงความเย็นได้นานขึ้นทำให้ละลายได้ยากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อน้ำแข็งละลายก็จะเห็นน้ำใสราวกับน้ำแร่
ในขณะที่น้ำแข็งที่ทำจากน้ำที่ไม่ได้ต้มนั้น มีสิ่งเจือปนมากมาย ดังนั้นจึงเกาะตัวกันได้หลวมกว่า เป็นผลให้ละลายเร็วกว่า อีกทั้งหลังจากละลายจะมองเห็นสารตกค้างได้ชัดเจนด้วย
กล่าวโดยสรุป น้ำต้มหรือน้ำกลั่น จะทำให้เกิดก้อนน้ำแข็งใส ในขณะที่น้ำที่ยังไม่ต้ม จะทำให้เกิดก้อนน้ำแข็งที่ขุ่นมากกว่า นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดในการช่วยแยกแยะน้ำแข็งที่ทำจากน้ำต้มกับน้ำไม่ต้ม
อย่างไรก็ตาม ใต้บทความดังกล่าวมีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์แย้งว่า “การเขียนบทความและการวิเคราะห์อาจมีข้อผิดพลาดบางประการ ฉันใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วทำน้ำแข็งที่บ้าน พบว่าสีจะใสหรือขาวขุ่นอยู่ที่ระยะเวลาของน้ำแข็ง ยิ่งแช่น้ำแข็งไว้นานก็ยิ่งมีสีขุ่น”
- รู้หรือไม่? ใส่น้ำแข็ง 3 ก้อนลงเครื่อง ช่วยให้ผ้าเรียบได้ ลดรอยยับไม่ง้อเตารีด
- เตือนแล้วนะ! พนง.โรงแรม แนะสิ่งที่ควรทำหลังเช็คอิน ต้มน้ำในกาให้เดือด แล้วเทลงชักโครก