"นาฬิกาวันสิ้นโลก" ยังอยู่ที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ

"นาฬิกาวันสิ้นโลก" ยังอยู่ที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ

"นาฬิกาวันสิ้นโลก" ยังอยู่ที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสในกาซ่า พ่วงด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ ได้ตรึงเข็มหน้าปัดนาฬิกาวันสิ้นโลก หรือ "Doomsday Clock" ให้เหลือเวลาเพียง 90 วินาทีใกล้เที่ยงคืน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ

“นาฬิกาวันสิ้นโลก” ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Bulletin of the Atomic Scientists ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดทำนาฬิกาวันสิ้นโลก คงเข็มนาฬิกาในปี 2024 ไว้ที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน จากภัยคุกคามต่อโลกและมวลมนุษยชาติ ทั้งภัยนิวเคลียร์ ภาวะโลกร้อน และการคืบคลานเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ

เรเชล บรอนสัน ซีอีโอของ Bulletin of the Atomic Scientists ชี้ว่า “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ยกระดับภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ขึ้นมา ส่วนภาวะโลกร้อนได้สร้างความสูญเสียต่อมนุษยชาติเป็นทุนเดิม ขณะที่เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีชีวภาพก็พัฒนารุดหน้าไปไกลกว่าความปลอดภัยของมนุษย์แล้ว” และย้ำว่าการตรึงเข็มนาฬิกาไว้เท่ากับปีก่อน ไม่ได้หมายความว่าโลกมีเสถียรภาพแต่อย่างใด

Bulletin of the Atomic Scientists ระบุในวันอังคารว่าทิศทางเลวร้ายยังมุ่งหน้าสู่หายนะแห่งมวลมนุษยชาติ รวมทั้งความจริงที่ว่าจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ ทุ่มเงินมหาศาลไปกับการขยายและสร้างความทันสมัยให้กับหัวรบนิวเคลียร์ของตน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสงครามนิวเคลียร์หากเกิดการคำนวณที่ผิดพลาดขึ้นมา

ทั้งนี้ นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1947 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งตั้งเข็มนาฬิกาที่อยู่ที่เวลาเจ็ดนาทีก่อนเที่ยงคืน เพื่อเตือนถึงความเสี่ยงที่มนุษยชาติอาจถูกทำลายจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ขณะที่ การปรับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกในแต่ละปี จะขึ้นอยู่กับข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงต่อโลกและมวลมนุษยชาติ

ขณะที่ องค์กร Bulletin of the Atomic Scientists ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี 1945 โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ เจ.โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook