นิสิตจุฬาฯ ชวนออกแบบจุดจบมนุษยชาติ ว่าด้วย "การสูญพันธุ์" ของมนุษย์

นิสิตจุฬาฯ ชวนออกแบบจุดจบมนุษยชาติ ว่าด้วย "การสูญพันธุ์" ของมนุษย์

นิสิตจุฬาฯ ชวนออกแบบจุดจบมนุษยชาติ ว่าด้วย "การสูญพันธุ์" ของมนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยคิดไหมว่า “การสูญพันธุ์” ของมนุษยชาติจะเป็นไปในรูปแบบใด จะมีอุกกาบาตพุ่งมาชนโลก น้ำท่วมโลก หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปจนหมดสิ้น นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ตั้งคำถามแบบเดียวกัน พวกเขาจึงรวมตัวกันหาคำตอบ จนนำไปสู่การจัดงานเสวนารูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานละครเวทีเข้ากับการพูดคุยได้อย่างลงตัวและสนุกสนาน ภายใต้ชื่องาน “Redesigning Human Extinction ฮาวทูสูญพันธุ์ (ฉบับปรับปรุงใหม่)” ที่ชวนคนมากหน้าหลายตามาร่วมกันาสำรวจความเป็นไปได้ของการสูญพันธุ์ของมนุษย์ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา

แขกรับเชิญทั้ง 6 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ มาร่วมกันพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ว่าด้วยการสูญพันธุ์ของมวลมนุษยชาติ ผ่าน 4 ช่วงของงานเสวนา ที่จัดเต็มด้วยแสง สี เสียง พร้อมกับเนื้อหาที่ลึกซึ้ง สนุกสนาน เข้าใจง่าย ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนในอุดมคติ เพื่อผู้เรียนทุกคน” และ Sanook ก็ขอทำหน้าที่สรุปเนื้อหาจากงานในครั้งนี้มาฝากทุกคน

สืบพันธุ์ยังไง ให้สูญพันธุ์

แทนไท ประเสริฐกุล จาก Witcast ขึ้นเวทีเปิดช่วงแรกของงานเสวนา ชวนผู้ร่วมงานคิดถึงการสูญพันธุ์ที่ไม่ได้มีแค่อุกกาบาตชนโลกหรือโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังมีความเป็นไปได้ของการสูญพันธุ์ของมนุษย์ที่ไม่ได้เกิดจากหายนะใดๆ แต่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น ดังต่อไปนี้ 

แทนไท ประเสริฐกุลแทนไท ประเสริฐกุล

  • สูญพันธุ์เมื่อสืบพันธุ์มาไกล โดยแทนไทเล่าถึงโฮโมเซเปียนยุคปัจจุบันกับยุคหลายแสนปีก่อน พร้อมพาผู้ชมนึกถึงสปีชีส์ที่สะสมการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งมันแตกต่างกันจนไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้แล้ว หรืออาจกลายเป็นสปีชีส์ใหม่ไปแล้ว ซึ่งเรียกว่าเป็น “teporal ring species”
  • สูญพันธุ์เมื่อสืบพันธุ์กับอีกสปีชีส์หนึ่ง แทนไทอธิบายการสูญพันธุ์ของนีแอนเดอร์ทัล มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่สืบพันธุ์กับโฮโมเซเปียนและหลอมรวมเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ซึ่งกลายเป็นอีกตัวอย่างของการสืบพันธุ์จนสูญพันธุ์ เพราะถูกหลอมรวมกับอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งนั่นเอง
  • สูญพันธุ์เมื่อไม่ต้องสืบพันธุ์ แทนไทชวนคิดถึงโลกในอนาคตที่หุ่นยนต์มีความเหมือนมนุษย์มากขึ้น AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนมากขึ้น เมื่อสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เติมเต็มความรักให้กับมนุษย์ได้ ก็อาจนำไปสู่การไม่สืบพันธุ์ของมนุษย์ก็เป็นได้ และอาจตอบโจทย์เรื่องการดับทุกข์และวงจรการเวียนว่ายตายเกิด

ความตายของความทรงจำ

ช่วงที่ 2 เปิดตัววีรพร นิติประภา นักเขียนนวนิยายชื่อดัง พร้อมด้วยณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน จาก Spaceth.co ที่ว่าด้วยมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนความทรงจำมาโดยตลอด ความทรงจำบอกว่ามนุษย์คือใคร แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็เป็นผู้ลบความทรงจำด้วยเช่นกัน ซึ่งเวลาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยลบความทรงจำของมนุษย์ ทั้งนี้ วีรพรได้กล่าวว่า “มนุษย์จะสูญพันธุ์เมื่อความทรงจำหายไป” 

วีรพร นิติประภา และณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

การสูญพันธุ์ของภูติผี

ต่อมาในช่วงที่ 3 ของงานเสวนา พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab ชวนมองการสูญพันธุ์ของ “ผี” พร้อมยกตัวอย่าง 3 เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าทำไมภูติผีจึงจะสูญพันธุ์ไปจากโลกของเรา ได้แก่

  1. ช่วงชีวิตของคนที่ยืนยาวขึ้น เมื่อมนุษย์สามารถหยุดการตายได้ คนก็ไม่ตาย ผีก็จะสูญพันธุ์
  2. ฝาแฝดดิจิทัล โดยพัทน์เล่าถึงงานวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการสร้างคู่แฝดของมนุษย์ในโลกดิจิทัล ที่วันหนึ่งคนอาจจะเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน และไม่มีวันตายจากไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ผีก็จะสูญพันธุ์ไป
  3. มนุษย์เจอผี แต่ไม่รู้ว่าเป็นผี เนื่องจากคนมักมีภาพจำของผีมาจากภาพยนตร์สยองขวัญ ดังนั้น มนุษย์จึงอาจจะไม่เคยได้พบเจอหรือเห็นผีจริงๆ และเป็นไปได้ว่าเมื่อเราเจอผี เราก็เลยไม่รู้ว่านั่นคือผี

พัทน์ ภัทรนุธาพร

เพื่อแก้ปัญหาผีสูญพันธุ์ พัทน์เสนอให้มีการจัดตั้ง “ภาควิชาวิศวกรรมวิญญาณ” ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผีได้สะท้อนให้เห็นมิติของจินตนาการที่เปิดพื้นที่ให้มนุษย์ได้ใช้จินตนาการ และจินตนาการก็นำไปสู่การเกิดไอเดียใหม่ๆ ที่จะช่วยเหลือให้มนุษย์ไม่สูญพันธุ์ หากมนุษย์ไม่จินตนาการ ไม่ตั้งคำถามใหม่ๆ สิ่งที่สูญพันธุ์อาจไม่ใช่แค่ผี แต่คือจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้

สิ่งแวดล้อมและการสูญพันธุ์ของมนุษย์

ช่วงสุดท้ายคือช่วงเสวนา ซึ่งประกอบไปด้วยเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและนักอนุรักษ์, ดร.สุพจน์ เดชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ที่มาทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ โดยวงเสวนาว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ 

เข็มอัปสร สิริสุขะ

ดร.สุพจน์ ชี้ว่า การย้อนกลับไปแก้ไขอดีตคงเป็นไปไม่ได้ มนุษย์จึงพยายามสร้าง (invent) อุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมา แต่สิ่งที่ตนคิดว่าจำเป็นต้องหยุด (uninvent) คือแนวคิดที่เอามนุษย์มาเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เพราะสิ่งที่มนุษย์กำลังทำอยู่ตอนนี้คือ “เรากำลังฝืนธรรมชาติ แต่ไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าธรรมชาติ” 

ด้านเข็มอัปสรก็ร่วมสะท้อนประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าแม้จะเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคม แต่ยังมีคนตัวเล็กอีกหลายคนกำลังร่วมกัน “ทำอะไรสักอย่าง” เพื่อช่วยเหลือโลกใบนี้ แม้การสูญพันธุ์ของมนุษย์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่การช่วยเหลือโลกของมนุษย์ตัวเล็กๆ ก็อาจช่วยยื้อหรือซื้อเวลาออกไปได้ 

ดร.สุพจน์ เดชวรสินสกุล

“มนุษย์สูญพันธุ์เพราะลบความทรงจำ เจอภัยพิบัติซักพักก็ลืม ต้องทำให้ความทรงจำไม่สูญหายไปไหนเพื่อคอยเตือนว่ามันจะกลับมาอีก โลกร้อนเหมือนกัน ทำอะไรได้ร่วมกันทำแล้วพลังจะใหญ่ขึ้น ในวันนี้ 1.5 องศารักษาไว้ไม่ได้แล้ว ต่อไปคือ 2 องศาที่บางคนมองว่านิดเดียว แต่มวลโลกใหญ่มาก แค่ 2 องศาจะสร้างพิบัติภัยมหาศาล และนักการเมืองยังไม่มองสิ่งเหล่านี้ เรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมอาจจะยากเพราะสิ่งเหล่านี้สวนทางกับความสบาย แต่เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังคนรุ่นใหม่” ดร.สุพจน์กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook