สรุปดราม่า "กางเกงช้าง" เมื่อ Soft Power ไทย เมดอินไชน่า
เป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ติดต่อกันหลายวัน สำหรับดราม่า “กางเกงช้าง” ที่กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่แวะเวียนมาไทย จนรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน พยายามผลักดันให้กลายเป็นหนึ่งในสินค้า Soft Power ของไทยตามนโยบายส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาลเพื่อไทย ถึงขั้นมีการจัดงาน THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE ที่มีทั้งการแข่งใส่กางเกงช้าง กินปาท่องโก๋ ใส่หน้ากากผีตาโขน กินป๊อปคอร์น และชกมวยต่อยลูกโป่ง จนกลายเป็นหัวข้อสนทนาของชาวเน็ตในวงกว้าง
- SOFT POWER คืออะไร แล้วประเทศไทยจะเอาอะไรไปขายให้ชาวโลก
- เหลียวหน้าแลหลัง ดู 5 ประเทศที่ Soft Power ทรงพลังมากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกิจกรรมที่ชาวเน็ตตั้งคำถามจะกลายเป็นสารตั้งต้นของ “ดราม่ากางเกงช้าง” ที่กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมอยู่ตอนนี้ แล้วดราม่าที่ว่าด้วย “กางเกงช้าง” สินค้า Soft Power ของไทยมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วใครออกมาพูดอะไรแล้วบ้าง Sanook สรุปดราม่ากางเกงช้างมาฝากทุกคน
กิจกรรมแข่งใส่กางเกงช้าง
วันที่ 16 ม.ค. 67 ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงข่าวจัดกิจกรรม THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE ร่วมมือกับ Guinness World Records เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยจัดการแข่งขันใน 5 หัวข้อ ได้แก่
- ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที
- ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที
- กินปาท่องโก๋มากที่สุดใน 1 นาที
- ใส่หน้ากากผีตาโขนมากที่สุดใน 1 นาที
- กินป๊อปคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ก็เพื่อนำเสนอ Soft Power 5F ของประเทศไทย คือ Food (อาหาร), Fashion (การออกแบบแฟชั่น), Film (ภาพยนตร์), Flight (มวยไทย) และ Festival (เทศกาลประเพณีไทย) และขานรับนโยบาย Soft Power ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
บอร์ด Soft Power แฟชั่น “ลาออกยกชุด”
ต่อมา วันที่ 31 ม.ค. 67 กมลนาถ องค์วรรณดี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขอลาออกจากตำแหน่งในคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเป็นการ “ลาออกยกชุด” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 67 เป็นต้นไป
หลังมีหนังสือลาออกถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตก็สันนิษฐานกันไปต่างๆ นานาว่าสาเหตุของการลาออกของอนุกรรมการฯ ในครั้งนี้คืออะไร กระทั่งมีคนขุดโพสต์เก่าของกมลนาถ ที่เจ้าตัวเคยโพสต์ถึง “กางเกงช้าง” ไว้ก่อนหน้านี้ ระบุว่า
คณะอนุกรรมการสาขาแฟชั่นฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับไอเดียกินเนส (Guinness) นี้ อยากเห็นหน้าคนอนุมัติงบมาก ห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา คิดกันเอง เห็นดีเห็นงามกันเอง ทำแล้วได้อะไร ทีมเอกชนอาสาทำงานกันหนักมาก เพื่อวางกรอบคิด การพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานทำอีเวนต์จุดพลุแล้วไงต่อ สร้างแวลู่ (Value) อะไรขึ้นมา ฝากหน่วยงานทุกหน่วยที่อยากเอาใจนาย ก่อนจะทำอะไรปรึกษาหารือกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคิดให้รอบด้านด้วย เงินภาษีประชาชน รวมทั้งมีการตอบคอมเม้นท์ว่า "ไร้สาระ"
กางเกงช้างไทย เมดอินไชน่า
หลังคนแชร์โพสต์ดังกล่าวในวงกว้าง “กางเกงช้าง” ก็กลายมาเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ทันที และมีการแชร์คลิปวิดีโอของสำนักข่าวไทยพีบีเอส ที่ลงพื้นที่สำรวจตลาดกางเกงช้างในประเทศไทย และพบว่ามีกางเกงช้างที่ผลิตในประเทศจีนถูกนำเข้ามาขายในราคาถูกมากในประเทศไทย โดยราคาถูกกว่ากางเกงช้างไทยถึงครึ่งหนึ่ง ทั้งยังได้รับความนิยมจากพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อไปขายต่อด้วย
เมื่อสำรวจราคากางเกงช้างที่วางขายโดยทั่วไปในท้องตลาด พบว่ากางเกงช้างไทยมีราคาระหว่าง 90 - 160 บาท ซึ่งกางเกงช้างจีนมีราคาถูกกว่ามาก แม้จะคุณภาพสู้ของที่ผลิตในประเทศไทยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พ่อค้าแม่ค้าก็สะท้อนว่านักท่องเที่ยวไม่ได้สนใจที่มาของกางเกงช้าง แต่ให้ความสำคัญกับราคามากกว่า ซึ่งนั่นทำให้กางเกงช้างของจีนได้รับความนิยมมากกว่า
ด้านสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ก็ได้นำกางเกงช้างของ 2 ประเทศมาเปรียบเทียบให้ดูในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ระบุว่า เนื้อผ้าและคุณภาพการตัดเย็นมีความแตกต่างกันมาก และยืนยันว่ากางเกงช้างไทยเนื้อผ้าดีกว่าของจีน ทั้งยังงานละเอียดกว่าและใส่สบายมากกว่า
นายกฯ ชี้เป็นบทเรียน
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในประเด็นเรื่องกางเกงช้างเช่นกัน ระบุว่า การที่กางเกงช้างจีนเข้ามาบุกตลาดในไทยถือเป็นการฉกฉวยโอกาสทางการค้า ซึ่งไทยต้องถือเอาเป็นบทเรียน พร้อมชี้ว่าจำเป็นต้องเรื่องในหลายเรื่อง ต้องทำงานให้รวดเร็วเร็ว และปกป้องผลประโยชน์ของชาติให้ได้
“กางเกงช้าง” คืออะไร
กางเกงช้าง คือ กางเกงผ้าพิมพ์ลายช้าง ซึ่งมีหลายรูปแบบและเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นอย่างมาก พร้อมกับที่ไอดอลชื่อดังหรือศิลปินต่างชาติที่เดิินทางมาไทย ก็นำกางเกงช้างมาใส่ จนทำให้เกิดกระแสใส่กางเกงช้างอย่างแพร่หลา และกลายเป็นแฟชั่นกางเกงช้างที่ใครก็ใส่กัน
กางเกงช้าง มักได้ชื่อว่าเป็นกางเกงที่เป้าขาดบ่อยๆ แต่ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว โดยราคาก็จะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 50 - 200 บาท และสามารถหาซื้อได้ตามตลาดนัด ห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อมีดราม่าเรื่องกางเกงช้างจีนบุกไทย ก็ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มตั้งคำถามว่าจะแยกกางเกงช้างไทยกับกางเกงช้างจีนได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องยาก เพราะกางเกงช้างที่ขายอยู่ในตอนนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งเนื้อผ้า การออกแบบ รวมถึงภาพพิมพ์ช้างนั่นเอง