โพลล์ชี้นายจ้าง 40% เลี่ยงรับเด็กเจน Z เผยสาเหตุที่โดนยี้ในตลาดแรงงาน?
ความแตกต่างระหว่างวัยในการทำงานเป็นเรื่องธรรมดาไม่ว่าจะรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เจน-เอ็กซ์ ไปจนถึงรุ่นมิลเลเนียล แต่ในการสำรวจล่าสุดที่ไปสอบถามความเห็นนายจ้างอเมริกันนับร้อย อาจทำให้คนรุ่นใหม่นอยด์ได้ เมื่อนายจ้างต่างยกให้คนเจน-ซี (Gen Z) เป็นช่วงอายุที่ถูกยี้ในตลาดแรงงานไปเสียแล้ว
การสำรวจความคิดเห็นกรรมการและผู้บริหารจำนวน 800 คนในสหรัฐฯ ในเรื่องการรับคนเข้าทำงานในตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 พบว่า นายจ้างราว 40% หลีกเลี่ยงการจ้างงานผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าคนเหล่านั้นไม่มีความพร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน
นายจ้างที่ร่วมการสำรวจ 20% กล่าวว่า ผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ มักจะมาสัมภาษณ์งานพร้อมกับผู้ปกครองของตน นายจ้างอีก 21% กล่าวว่า ตนต้องเจอกับผู้สมัครงานที่ปฏิเสธที่จะเปิดกล้องในระหว่างการสัมภาษณ์งานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ บ้างก็มีปัญหาที่ไม่ยอมสบตาผู้สัมภาษณ์ บางคนแต่งกายไม่เหมาะสม และยังมีที่ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย
ผลการสำรวจดังกล่าวไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับไมเคิล คอนเนอร์ส ผู้สรรหาบุคลากรด้านบัญชีและเทคโนโลยีในเขตกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เตรียมความพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานให้กับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
เขากล่าวว่า ดูเหมือนคนเหล่านี้จะขาดความจริงจังกับชีวิต ไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาต้องการได้งานหรือไม่ หรือว่าฝืนใจทำ เขายังไม่เคยเจอกับผู้สมัครที่ปฏิเสธที่จะเปิดกล้อง แต่เขาเจอกับนักศึกษาที่มาสัมภาษณ์งานออนไลน์ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสัมภาษณ์งาน อย่างเช่น ที่นอกห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ทั้งคอนเนอร์ส และ ไดแอน เกเยสกี ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่วิทยาลัย Ithaca ในนิวยอร์ก ต่างเห็นพ้องว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและวุฒิภาวะของผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย
เกเยสกีกล่าวว่า “การเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายของพวกเขานั้นมีปัญหามากมาย พวกเขาไม่ได้มีงานสำเร็จการศึกษา ไม่ได้มีงานเต้นรำ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ อย่างที่เคยมีมา นอกจากนี้พวกเขาไม่สามารถทำงานในช่วงฤดูร้อนของปีนั้นก่อนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ และแม้กระทั่งตอนที่พวกเขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไปแล้ว สิ่งต่าง ๆ เช่น การมีวิทยากรรับเชิญ การฝึกงาน หรือการไปเรียนต่างประเทศ ก็ถูกระงับไปด้วยเช่นกัน”
เรื่องดังกล่าวส่งผลให้นักเรียนมีความมั่นใจเกี่ยวกับความสามารถของตนในการมีส่วนร่วมในโลกของการทำงานน้อยลง
ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่จะสามารถช่วยให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับการทำงานได้ ก็คือสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัสนอกห้องเรียน เช่น การได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่มีความแตกต่างจากตัวเอง การได้ทำงานในโครงการต่าง ๆ ในชุมชน และการได้ฝึกงาน ซึ่งหยุดไปในช่วงของการแพร่ระบาด
นอกจากนี้แล้วผลสำรวจยังชี้ว่า นายจ้างอีก 38% กล่าวว่า ตนหลีกเลี่ยงการจ้างงานผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการสนับสนุนคนงานที่มีอายุมากกว่า และพวกเขาก็ยินดีที่จะจ่ายเงินให้คนงานที่มีอายุมากกว่าหรือเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ให้ทำงานทางไกลได้มากขึ้น
เกือบครึ่งหนึ่งของนายจ้างกล่าวว่า พวกเขาต้องไล่พนักงานที่เพิ่งเรียนจบออกจากงาน 63% กล่าวว่าพนักงานจบใหม่บางคนที่ตนจ้างมาไม่สามารถรับมือกับภาระหน้าที่ของตนได้ 61% บอกว่าพนักงานเหล่านั้นมาทำงานสายบ่อยครั้ง 59% บอกว่าพวกเขามักทำงานไม่ทันกำหนดเวลา และ 53% บอกว่าพนักงานใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวมักเข้าประชุมสาย
คอนเนอร์สกล่าวว่า พนักงานจบใหม่เหล่านี้น่าจะบริหารงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีขึ้นมากหากได้ทำงานในออฟฟิศมากกว่านี้ เพราะการทำงานจากที่บ้านในช่วงเวลาหนึ่งอาจทำให้พวกเขาทำงานล่าช้าลง และว่าพวกเขาต้องการที่ปรึกษาเพื่อที่จะได้เรียนรู้และมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตน
เกเยสกีจากมหาวิทยาลัย Ithaca กล่าวด้วยว่า เธอพบว่านักศึกษามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบรรดาครูอาจารย์ก็พยายามรับมือกับปัญหานี้ด้วยการเข้มงวดในเรื่องการเข้าเรียนให้น้อยลง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องกำหนดการส่งงาน และบรรดานายจ้างเองก็รับรู้ได้ถึงระดับของความวิตกกังวลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนี้
คอนเนอร์สกล่าวอีกว่าแม้ว่าการความพร้อมทางวิชาชีพของ คนรุ่น Gen Z จะแย่ลงในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่เรื่องนี้เป็นเทรนด์ที่เขามองเห็นมาหลายปีแล้ว พร้อมชี้ว่า “คนรุ่นนี้คำนึงเรื่องงานอดิเรกของตนมากกว่าและมีความยืดหยุ่นในเรื่องนั้น” นอกจากนี้ความอยากมีเงินทองหรือความต้องการก้าวหน้าในอาชีพการงานก็ลดน้อยลง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เท่านั้นเอง
นายจ้างครึ่งหนึ่งที่ร่วมการสำรวจกล่าวว่า นักศึกษาจบใหม่ที่พวกเขาสัมภาษณ์ได้เรียกร้องค่าจ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเกเยสกีเชื่อว่าอาจเป็นเรื่องของการที่คนหนุ่มสาวมีความตระหนักรู้มากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และพวกเขาคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ เอารัดเอาเปรียบพนักงานตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และเห็นถึงความร่ำรวยเป็นพันล้านของบรรดาเจ้าของบริษัท จึงทำให้พวกเขาต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม