"ฮุน มาเนต" ขอบคุณ "เศรษฐา" ช่วยสกัดผู้เห็นต่าง หลังไทย-กัมพูชา เซ็น MOU 5 ฉบับ
7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล โดยโอกาสนี้ไทยและกัมพูชาได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นควมร่วมมือที่สำคัญ ทั้งด้านความสัมพันธ์ การค้าขายและการลงทุน ความมั่นคงพลังงาน การพัฒนาชายแดนและการท่องเที่ยว หมอกควัน PM2.5 แรงงาน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ พร้อมลงนามใน MOU ทั้งหมด 5 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่สังคมโลกกำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือกรณีจับกุมนักกิจกรรมกัมพูชาในไทย ที่หน่วยงานสิทธิมนุษยชนมองว่าประเทศไทยกำลังให้ความช่วยเหลือเผด็จการหรือไม่
“ฮุน มาเนต” ขอบคุณ “เศรษฐา”
เมื่อวานนี้ (7 ก.พ. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ฮุน มาเนต ได้กล่าวขอบคุณ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ไม่อนุญาตให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ประเทศไทยเพื่อ “แทรกแซง” กิจการของกัมพูชา ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา 3 คนและครอบครัวถูกจับกุมตัวในประเทศไทย แม้คนกลุ่มนี้จะได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติว่าเป็นผู้ลี้ภัยแล้วก็ตาม พร้อมกันนี้ ฮุน มาเนต ยังได้ให้คำมั่นว่าจะไม่อนุญาตให้กลุ่มหรือองค์กรใดๆ เข้าไปใช้ประโยชน์ของแผ่นดินกัมพูชา เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยเช่นเดียวกัน
ด้านเศรษฐาก็ได้ยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย ที่จะไม่อนุญาตให้ใครใช้ไทเป็นเวทีในการแทรกแซงกิจการภายในหรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อประเทศเพื่อนบ้านเด็ดขาด
3 นักกิจกรรมกัมพูชา
ก่อนฮุน มาเนต จะเดินทางมาถึงประเทศไทยไม่กี่วัน สื่อต่างประเทศก็ได้รายงานข่าว ระบุว่า นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา 3 คน ถูกจับกุมตัวที่ประเทศไทย ประกอบด้วย กง ไรยา (Kong Raiya) อดีตนักโทษการเมืองชาวกัมพูชา, ลิม โสกา (Lim Sokha) สมาชิกพรรคแสงเทียน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา และพร พันนา (Phorn Phanna) นักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย
ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวทั้ง 3 คนได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติว่าเป็น “ผู้ลี้ภัย” แล้ว
ท่ามกลางความกังวลขององค์กรสิทธิมนุษยชนว่าทางการไทยอาจส่งตัว 3 นักเคลื่อนไหวกลับไปกัมพูชา และอาจต้องโทษรุนแรง องค์กร Human Rights Watch ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศไทย ไม่เนรเทศนักเคลื่อนไหวเหล่านี้กลับประเทศ โดยช่วงหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่า “ฮุน มาเนตกำลังพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบเดียวกับพ่อของเขา และประเทศไทยไม่ควรร่วมมือกับความพยายามปราบปรามข้ามชาติของเขา”
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ผู้ถูกจับกุมจะถูกส่งไปยังประเทศที่สาม และจะไม่ถูกส่งกลับไปที่กัมพูชา โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เข้ามาดูแลเรื่องการย้ายไปประเทศที่สามเรียบร้อยแล้ว
เปิดข้อตกลงไทย-กัมพูชา
การเดินทางเยือนไทยของฮุน มาเนต ในครั้งนี้ ประเทศไทยและกัมพูชาลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MOU) ทั้งหมด 5 ฉบับ ดังต่อไปนี้
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยและกัมพูชา
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิต ของกัมพูชา
- บันทึกความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา
“ฮุน มาเนต” คือใคร
ฮุน มาเนต คือนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นลูกชายคนแรกของ “ฮุน เซน” อดีตผู้นำกัมพูชาที่ปกครองประเทศมานานกว่า 40 ปี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารสหรัฐอเมริกา จนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอน
พรรค CPP ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2566 และฮุน เซน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้ฮุน มาเนตได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยเขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา