ประวัติ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต้นตระกูล “อภัยวงศ์” ผู้เป็นตำนานแห่งปราจีนบุรี

ประวัติ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต้นตระกูล “อภัยวงศ์” ผู้เป็นตำนานแห่งปราจีนบุรี

ประวัติ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต้นตระกูล “อภัยวงศ์” ผู้เป็นตำนานแห่งปราจีนบุรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประวัติ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต้นตระกูล “อภัยวงศ์” ตระกูลดังปราจีนบุรี บิดาของนายกรัฐมนตรีไทย ต้นตำรับแบรนด์สมุนไพรชื่อดัง

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีนามเดิมว่าชุ่ม เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2404 ที่เมืองพระตะบอง เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) บิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นนายรองเล่ห์อาวุธ รองหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอภัยพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองพระตะบองอยู่กับเจ้าคุณบิดา

ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง

เมื่อเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง สืบแทนบิดา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑลเขมรถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นทั้งสมุหเทศาฯ มณฑลบูรพา ควบกับผู้สำเร็จฯ เมืองพระตะบองทั้งสองตำแหน่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สกุลพันธ์ ยุตธรรม์สุรภาพอัธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ" มีตำแหน่งในราชการกระทรวงมหาดไทย ถือศักดินา 10,000 ไร่ เช่นเดียวกับเจ้าพระยาทั้งหลาย และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา

ตั้งรกรากที่ปราจีนบุรี

ปี พ.ศ. 2450 ในขณะที่ไทยมีกรณีพิพาทอินโดจีนกับประเทศฝรั่งเศส ต้องแลกมณฑลบูรพากับเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส ท่านตัดสินใจทิ้งยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งที่ฝรั่งเศสชวนท่านปกครองเมืองพระตะบองต่อ แต่ท่านกลับอพยพครอบครัวและบุตรหลานมาเป็นข้าราชการธรรมดา ลาออกมาอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี

ในปี พ.ศ. 2460 ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามสกุลแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) และผู้สืบเชื้อสายต่อจากนั้นไปว่า "อภัยวงศ์" หลังจากนั้นท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ประเทศชาติและจังหวัดปราจีนบุรีมากมาย เช่น บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และที่สำคัญคือได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแก้วพิจิตรที่เมืองปราจีนบุรี โดยเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและออกแบบเอง และนับเป็นวัดประจำสกุล "อภัยวงศ์"

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ต้นตำรับสูตรสมุนไพร

ด้านอุปนิสัยส่วนตัว เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชอบประกอบอาหารรับประทานด้วยตนเอง โดยส่วนมากจะเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร จนกลายเป็นตำรับตกทอดมายังลูกหลานภายในตระกูลและกิจการในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสเมืองปราจีนบุรี ก็ได้ยังเสวยพระกระยาหารที่ท่านเป็นผู้ปรุงอีกด้วย

เจ้าพระยาอภัยภูเบศรป่วยด้วยโรคเบาหวานถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 สิริอายุ 61 ปี 29 วัน ปี ได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจา ผ้าไตรบังสุกุล 3 ไตร ผ้าขาว 6 พับ ได้เชิญศพไปตั้งบนตึกที่ท่านสร้างไว้ และได้รับพระราชทานเพลิงศพที่เมรุวัดแก้วพิจิตร และเชิญอัฐิไปบรรจุไว้ที่ฐานพระอภัยวงศ์ ในพระอุโบสถ วัดแก้วพิจิตร 

เมื่อพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) ถึงแก่อนิจกรรม จึงเชิญอัฐิและอังคารมาไว้เคียงข้างอัฐิของท่านเจ้าพระยาฯ ได้รับพระราชทานสดับปกรณ์อัฐิและน้ำสุคนธ์สรงอัฐิในทุกวันสงกรานต์จากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อพระนางฯ สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก็ทรงพระราชทานมาสรงทุกวันสงกรานต์ และถ้าว่างจากพระภารกิจทั้งสองพระองค์ก็จะมาบำเพ็ญพระกุศลพระราชทานแก่เจ้าพระยาอยู่เนืองๆ

บุตร-ธิดา

บุตรที่เกิดแต่ คุณหญิงสอิ้ง คฑาธรธรณินทร์ ภริยาเอก

1.หม่อมเชื่อม กฤดากร ณ อยุธยา (ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร)

2.คุณหญิงรื่น กัลยาณวัฒนวิศิษฏ์ สมรสกับ พระยากัลยาณวัฒนวิศิษฐ์ (เชียร กัลยาณมิตร).

3.พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) พระชนกในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

4.พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ์ (ช่วง อภัยวงศ์)

นอกจาก คุณหญิงสอิ้ง ภรรยาเอก เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีหม่อมกว่า 20 คน และมีบุตรธิดากว่า 35 คน เท่าที่มีการสืบค้นได้ 

โดยบุตรที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย อาทิ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 4 ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก เป็นบุตรที่เกิดจากหม่อมรอด

เชียด อภัยวงศ์ เป็นอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของไทยถึง 4 คน คือ นายควง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และนายปรีดี พนมยงค์ ระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึงปี พ.ศ. 2489 เป็นบุตรที่เกิดจากหม่อมริ้ว

ชวลิต อภัยวงศ์ เป็นอดีตรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระตะบอง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี

ส่วน นายเกษม อภัยวงศ์ บุตรที่เกิดจากหม่อมละม้าย สมรสกับ อนุศรี อนุรัฐนฤผดุง (ยายของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาได้หย่าร้างกัน นายเกษมสมรสใหม่กับ เฉลิมศรี โยฐาพยัคฆ์ษะ ส่วน อนุศรี สมรสใหม่กับคุณตาของพิธา 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook