3 ผู้นำศาสนา เรียกร้องทุกฝ่ายเจรจา

3 ผู้นำศาสนา เรียกร้องทุกฝ่ายเจรจา

3 ผู้นำศาสนา เรียกร้องทุกฝ่ายเจรจา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

3 ผู้นำศาสนา "พุทธ-คริสต์-อิสลาม" เรียกร้องทุกฝ่ายเจรจา มีสติยุติปัญหา ถอยคนละก้าว เลิกระบบอุปถัมภ์ ลดทิฐิ "อิมรอน" แนะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ชี้หมดทางเลือกแล้ว ขอคนไทยร่วมกันตั้งอธิษฐานจิตเวลา 18.00 น. เชื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ร่วมกับผู้นำ 3 ศาสนา ประกอบด้วยนายอิมรอน มะลูลีม ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรี มุขนายกเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และพระธรรมโกษาจารย์ ประยูร ธมฺมจิตฺโต อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เตือนสติประชาชนชาวไทย เพื่อให้ประชาชนทุกศาสนาช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์รุนแรงของบ้านเมืองให้สงบลง โดยนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. กล่าวเปิดงานว่า การเชิญผู้นำทั้ง 3 ศาสนามาแสดงความเห็นต่อสถานการณ์การชุมนุม เพื่อให้ข้อคิดเห็นมุมมองทางศาสนา และชี้นำประชาชนให้ใช้สติวิเคราะห์สถานการณ์ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตึงเครียดเพื่อหาออก กสม.จึงได้ปรึกษากันและเชิญตัวแทนผู้นำทั้ง 3 ศาสนา เชื่อว่าข้อเสนอแนะทั้ง 3 ศาสนาจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศ

นายอิมรอน กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ ถือเป็นวิกฤติที่ต้องช่วยกันหาทางออก ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า อำนาจสำคัญในฝ่ายบริหารถือว่าล่มสลาย รัฐบาลต้องเร่รอนหาที่ประชุมตามสถานที่ต่างๆ ส่วนอำนาจตุลาการเวลานี้กำลังสั่นคลอน เพราะถูกประชาชนมองในแง่มุมต่างๆ ต้องยอมรับว่าประเด็นนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็มองด้วยความไม่สบายใจ สถาบันหลักทั้ง 3 สถาบันคือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นที่พึ่งของเราทุกคนที่ต้องยอมรับ ถ้าสังคมใดขาดความยุติธรรม ความสามัคคีจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย ต้องมีความเสมอเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องยึดผลประโยชน์ชาติ เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า และในยุคที่มีการแข่งขัน ผลประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อน

นายอิมรอน ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเชิญอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝ่ายค้านมาทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการเงิน แสดงให้เห็นว่าการเมืองไม่ได้ยึดติดรูปแบบ มองในแง่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะที่ประเทศไทยเรามีผู้นำที่มาด้วยระบบโควตา ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้ควรยกเลิก เราต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ คิดทบทวนสิ่งที่ทำไป การทำให้ประเทศอยู่ได้ คนในสังคมต้องมีความรักและผูกพัน รับผิดชอบร่วมกัน อยากเสนอว่าคนในประเทศควรมีเอกภาพ แม้เชื้อชาติจะแตกต่างกัน ก็อยู่ร่วมกันได้ อยากให้คนไทยรักกัน ต้องมีสติและต้องสงวนจุดต่าง และมีจุดร่วม ขณะที่ผู้นำจะต้องมีคุณสมบัติอดทน

"หลักศาสนาอิสลาม จะต้องตอบโต้ความชั่วร้ายด้วยความดี อย่าเอาไฟดับไฟ ต้องเอาน้ำดับไฟ เชื่อว่าสถาบันศาสนาจะช่วยแก้วิกฤติได้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ทางการเมือง ต้องยกเลิกมือตบ ตีนตบอย่างเด็ดขาด และควรแก้กฎหมายการชุมนุมตามมาตรา 63 ให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษ ที่ต้องแจ้งว่าการชุมนุมจะมาชุมนเรื่องอะไร มีขอบเขตแค่ไหน ไม่ใช่ไร้เหตุผลแล้วนำไปสู่ความรุนแรง ส่วนมาตรา 237 ที่ให้ยุบพรรค ผมเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่าให้ความผิดของคนคนเดียวกลายเป็นผิดทั้งหมด เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ" นายอิมรอน กล่าว

ด้าน มุขนายกเกรียงศักดิ์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน แม้ว่าในสังคมจะเห็นต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งแต่เชื่อว่าอยู่ร่วมโลกกันได้ ทุกอย่างผสมกลมกลืนกันได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเปิดใจให้กว้างมากขึ้นโดยเฉพาะในยามที่มีวิกฤติเพื่อรองรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ขยายขีดจำกัดของตนเอง จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมกันแสวงหาทางออก โดยเริ่มจากตัวเราก่อนในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ขอให้ทุกคนมีเวลานอก ใช้ช่วงเวลา 18.00 น.ของทุกวันอธิษฐานแผ่เมตตาจิตร่วมใจในเวลาเดียวกัน เชื่อว่าการอธิษฐานภาวนาของคนไทยทุกคนจะทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยดีขึ้น คนจะมีสติมากขึ้น

"การสูญเสียที่ผ่านมา ไม่ควรนำกลับมาอ้างกันอีกแล้ว และไม่ควรหมดหวังที่จะหันหน้ากันมาพูดคุยเพื่อเจรจาหาทางออก ทุกฝ่ายต้องหยุดและหันมาทบทวนอีกครั้งเพื่อประเทศไทยทั้งหมด หยุดเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรงหันมาสู่การเจรจา โดยท่าทีที่ประนีประนอม ยอมรับฟังเปิดใจกว้างให้มากขึ้น มีเจตนาร่วมในการหาทางออก การเจรจาด้วยสันติวิธีเท่านั้นจะเป็นการแก้ปัญหา จะปล่อยให้สังคมเป็นแบบนี้ไม่ได้" มุขนายกเกรียงศักดิ์ กล่าวและว่า เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะสามารถหาทางออกได้ด้วยการเจรจาครั้งที่ 3 ถ้าฝ่ายใดปฏิเสธการเจรจา สังคมก็จะเห็นเองว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายประเทศไทย ซึ่งเห็นว่าการให้อภัยกันจะเป็นหนทางสู่การแก้ไขปัญหา

พระธรรมโกษาจารย์ ประยูร กล่าวว่า ขณะนี้ถึงวาระที่ต้องมาตั้งสติแล้ว ถ้าเราไม่อะลุ่มอล่วย หรือไม่ถอยกันคนละก้าว หรือไม่ตั้งสติแล้ว ในที่สุดสังคมไทยก็จะไปสู่อัตตาธิปไตย เป็นสังคมที่ไม่มีขื่อไม่มีแป ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย มือใครยาวสาวได้สาวเอา แล้วประเทศชาติจะเหลืออะไร แล้วเรายังเข้าใจผิดในประโยคที่ว่า "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร" แต่จริงๆ แล้วความหมายคือ ถ้ายอมแพ้เราก็จะเป็นพระในใจของคนๆ นั้น ถ้าเราชนะเราจะเป็นมารของคนๆนั้น แต่อย่าลืมว่าเราก็คนไทยด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายต้องมาตั้งสติเพื่อไม่ให้ไปสู่อนาธิปไตย รักษาชาติบ้านเมืองเอาไว้

"ทั้งสามศาสนา อยากขอให้ตัดวงจรตรงนี้ด้วยการให้อภัยกัน เยียวยาบาดแผลที่อยู่ในจิตใจของกันและกัน อย่าเยาะเย้ยกัน อภัยให้กัน และที่สำคัญคือ แผ่เมตตา มองกันในแง่ดี ซึ่งคนไทยควรต้องมีขันติ อดทนกับคนที่มีความคิดเห็นต่างจากเรา ด้วยความเมตตา ความรักเห็นว่าเป็นพวกเดียวกันถึงจะดำรงความเป็นชาติไว้ได้ เหมือนอย่างที่ผ่านมา " พระธรรมโกษาจารย์ กล่าว

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลเผยแพร่คลิปการสลายชุมนุมวันที่ 10 เมษายนถือว่ายั่วยุ และควรยุติ เพื่อรอการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อนหรือไม่ นางอมรา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา โดยกรรมการประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิ ฯ 3-4 คน ตัวแทนจากสื่อมวลชน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนจากผู้ชุมนุม และตัวแทนภาคประชาชน ฝ่ายละ 2 คน ซึ่งขณะนี้กำลังประสานไปยังตัวแทนฝ่ายต่างๆ โดยคาดว่าจะรู้ผลต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งตัวแทนสื่อและภาคประชาชนนั้นต้องประสานผ่านองค์กรและเครือข่ายเพื่อส่งตัวแทนเข้าร่วม ขณะที่แนวทางการสอบสวนจะเน้นเรื่องการละเมิดสิทธิ์ของฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุม ส่วนกรณีที่รัฐบาลนำคลิปภาพมาเผยแพร่ผ่านสื่อ คณะกรรมการสิทธิ ฯ จะประสานและหารือรัฐบาลเรื่องการยุติเผยแพร่ เพราะส่วนตัวได้เห็นคลิปภาพผ่านสื่อมวลชนเช่นกัน

เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ถึงเวลาพิจารณารัฐบาลแห่งชาติหรือยัง นาย อิมรอน กล่าวว่า สิ่งไหนดีก็ต้องยอมรับ มองหาในสิ่งที่ดีแล้วนำมาใช้กับประเทศชาติ ส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นแล้วที่ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเวลานี้หมดทางเลือกแล้ว ฟังดูแล้วบางคนอาจไม่เข้าท่า แต่ยืนยันว่าไม่มีทางไหนไม่มีทางไหนที่ดีกว่านี้แล้ว ขณะที่ถ้าทุกคนเข้ามามีส่วนรวม มีส่วนตัดสินใจ มีความรับผิดชอบแล้วจะโทษใครไม่ได้ ตนเข้าใจว่าประเทศไทยยังมีคนดี และคนเป็นกลางมีอีกเยอะ จึงอยากให้ทุกคนต้องมาร่วมกันเสียสละ

"แม้หลายคนคิดว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นไปไม่ได้ แต่ผมยังเชื่อมั่นว่ายังทำได้ ถ้าท่านทั้งหลายเสียสละกันบ้างลดราวาศอกกันบ้าง ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจัง ก็ทำได้ เราต้องเอาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์เหนือสิ่งอื่นใด" นายอิมรอน กล่าวย้ำ

ด้านพระธรรมโกษาจารย์ กล่าวว่า ทางออกมีหลายวิธี ก็ต้องมาคิดกันเพื่อเลือกวิธีใดและนำมาปรับแก้ ดังคำพูดที่ว่า "แมวไม่ว่าจะสีอะไร ถ้าจับหนูได้ ก็ใช้งานทั้งนั้น"

เมื่อถามว่า แนวทางการเจรจารัฐบาล และฝ่ายชุมนุม ตามความเห็นของผู้นำศาสนาเสนอนั้น จะทำได้เมื่อใด นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิ ฯ กล่าวว่า เวลานี้คณะกรรมการสิทธิ พยายามประสานทั้งฝ่ายรัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งฝ่ายรัฐบาลแสดงท่าทีพร้อมเจรจา ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมเราก็พยายามติดต่อไปแต่ยังยากมาก หากติดต่อกับกลุ่มคนเสื้อแดงได้เร็วเท่าใด คณะกรรมการสิทธิ ฯ จะแจ้งไปยังรัฐบาลทันที.-

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook