“ผจญไทย” รายการเพื่อสังคมที่บอกเล่าภูมิปัญญาไทย ผ่านมุมมองชาวต่างชาติ
เมื่อพูดถึงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หนึ่งในช่องทางสำคัญที่ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย เลือกใช้เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพและส่งเสริมความสามารถในการผลิตและจำหน่ายสินค้าชุมชนให้เป็นที่รู้จัก คือการผลิตรายการ “ผจญไทย” ซึ่งเป็นรายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย และความเป็นไทย ผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าไทยนานาชนิด ตลอดจนงานฝีมือ อาหาร และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เผยแพร่ทาง Youtube : King Power Thai Power พลังคนไทย เป็นประจำทุกเดือน ปัจจุบันดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น 32 เทป
เสน่ห์ที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาติดตามชมรายการอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ การให้พิธีกรชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยและหลงรักในวัฒนธรรมไทย สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่าเรื่องและทดลองทำสินค้าจริงในรายการ เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตสินค้าไทยตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งพิธีกรต่างชาติเหล่านี้ไม่เคยทำมาก่อน ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำให้ทุกคนได้เห็นถึงความยากลำบากที่กว่าจะได้สินค้ามาแต่ละชิ้น ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลาอย่างมาก เป็นการตอกย้ำให้เห็นคุณค่าของสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น
จอง ฮยอง ยุน หรือเจได หนุ่มเกาหลีพิธีกรเจ้าประจำของรายการซึ่งอยู่เมืองไทยมากว่า 20 ปี กล่าวว่า รักเมืองไทยและคนไทยมากเพราะมีน้ำใจ รู้สึกว่าประเทศไทยเป็นบ้านตัวเอง ด้วยความที่อยู่เมืองไทยมานาน จึงพูดภาษาไทยได้ดีมาก ทำให้มีโอกาสในการทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการร่วมงานกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ซึ่งขณะนั้นกำลังจะผลิตรายการผจญไทยและหาพิธีกรมาร่วมรายการ ตนจึงได้เป็นพิธีกรประเดิมใน EP แรก เป็นตอนจักสานไม้ไผ่ ที่ จ.ชลบุรี ได้เรียนรู้เรื่องการจักสานและลงมือทำจริงในทุกขั้นตอน หลังจากนั้นก็ได้เป็นพิธีกรในรายการผจญไทยอีกเรื่อย ๆ สลับสับเปลี่ยนกับพิธีกรชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ซึ่งตนมองว่าการที่ คิง เพาเวอร์ ให้โอกาสชาวบ้านได้ทำสินค้าแล้วนำมาขายที่สนามบิน ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ช่วยชาวบ้านจริง ๆ
“ตอนแรกที่เห็นก็รู้สึกว่าน่าจะทำง่าย แต่พอได้ลองทำดูจริง ๆ มันยากมาก การได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสกับแหล่งผลิตผลงานฝีมือของชาวบ้านทำให้รู้สึกประทับใจ การได้เป็นพิธีกรในรายการผจญไทยนี้ ถือเป็นการเปิดโลกใบใหม่และใบใหญ่ของผมให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น ที่ผมได้เรียนรู้มาจากการทำรายการยังไม่ถึง 20% ของงานฝีมือของคนไทยเลย ผมอยากเรียนรู้สิ่งใหม่เรื่อย ๆ ได้ทำรายการนี้รู้สึกสนุกมาก ได้ลองสิ่งแปลกใหม่เป็นครั้งแรกหลายอย่าง” จอง ฮยอง ยุน กล่าว
เรียวตะ โอมิ หนุ่มแดนปลาดิบที่ตัดสินใจมาเมืองไทยชนิดที่ว่าไม่เข้าใจภาษาไทยแม้แต่นิดเดียว กล่าวว่า ตัดสินใจมาเมืองไทยเพราะรู้สึกสนใจและอยากมาหาประสบการณ์ ด้วยความพยายามอย่างหนักในที่สุดก็สามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว จนได้มาเปิดช่อง Youtube, Tiktok มีผู้ติดตามมากมาย ตลอดจนได้มาร่วมเป็นพิธีกรในรายการผจญไทย ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานฝีมือที่มีขั้นตอนเยอะและไม่สามารถก๊อบปี้ได้ ได้เดินทางไปหลาย ๆ ที่ในเมืองไทย เช่น สกลนครได้เรียนรู้เรื่องการย้อมคราม ไปลำพูนหัดทำผ้ามัดย้อม ไปชุมชนกะเหรี่ยงได้ลองย้อมผ้าด้วยฮ่อมและมะเกลือ เป็นต้น การได้มาร่วมรายการผจญไทย ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งประทับใจมาก นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากอย่างหนึ่งในชีวิตที่ได้รับ
อีกหนึ่งสาวที่ได้ร่วมเป็นพิธีกรรายการ “ผจญไทย” โคลอี้ โซล่า วิดีโอครีเอเตอร์บนโซเชียลมีเดียชาวฝรั่งเศสที่พูดได้หลายภาษา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะพูดได้หลายภาษาไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น แต่ภาษาที่ทำให้เป็นที่รู้จักมาก ๆคือคลิปที่พูดเป็นภาษาอีสาน ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจนได้โอกาสจาก คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ชวนมาเป็นหนึ่งในพิธีกรรายการผจญไทย คลิปแรกได้เดินทางไปเรียนรู้การทำผ้าไหมที่บุรีรัมย์ ต่อมาเป็นการทำกระเป๋าจากใยตาลที่สงขลา ซึ่งได้โชว์ทักษะภาษาใต้และอีสาน ส่วนเทปต่อ ๆ มาก็ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย การได้ทำรายการผจญไทยทำให้มีความสุข ภูมิใจ และประทับใจมาก นอกจากนี้ยังได้ความรู้เพิ่มเติม เช่น การทำกระเป๋า การทำผ้าไหม เห็นขั้นตอนในการผลิตต่าง ๆ ว่าต้องทำอย่างไร ได้เห็นคนในชุมชนเล็ก ๆ ทำงานฝีมือ เป็นการสะท้อนด้านวัฒนธรรมอีกทาง ตนเป็นชาวต่างชาติแท้ ๆ ยังรู้สึกประทับใจทำให้ยิ่งอยากรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้นไปอีก หากชาวต่างชาติได้เห็นก็คงสนใจไม่แพ้กัน บางคนพอเห็นคลิปรายการก็อยากซื้อสินค้าเลยด้วยซ้ำ
ถือได้ว่ารายการ “ผจญไทย” เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย ตลอดจนความเป็นไทย ผ่านชาวต่างชาติที่รักในวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี สามารถติดตามรับชมได้ทาง YouTube: King Power Thai Power พลังคนไทย
[Advertorial]