"ตะวัน" คือใคร ทำไมจึงทำโพล "ขบวนเสด็จ" สะเทือนสังคม
ชื่อของ “ตะวัน” กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังกลายเป็นข่าวใหญ่ประเด็นบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ก่อนจะเผชิญหน้ากับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) จนเป็นดราม่าร้อนบนโลกโซเชียล และในตอนนี้ตะวันก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมอีกครั้ง พร้อมประกาศอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้นักโทษทางการเมืองทุกคน
- "ตะวัน" ลุยแจ้งความ ศปปส. โผล่ปะทะ ทะลุวัง ซัดกันนัวกลางสยาม ค้านโพลขบวนเสด็จ
- “ทะลุวัง” คือใคร นักขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า หรือ “เยาวชนเจ้าปัญหา” ที่สังคมตั้งข้อสงสัย
- ประวัติ “บุ้ง ทะลุวัง” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้เติบโตในบ้านนักกฎหมาย
แล้ว “ตะวัน” คือใคร ทำไมเธอจึงลุกขึ้นมาทำขับเคลื่อนเรียกร้องประเด็นเรื่องขบวนเสด็จ จนกลายเป็นประเด็นสะเทือนสังคมที่หลายฝ่ายจับตามอง Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จักเยาวชนหญิงที่ตัดสินใจทิ้งการเรียนในสิงคโปร์ เพื่อกลับมาต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมของสังคมไทย
“ตะวัน” คือใคร
ตะวัน หรือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ คือ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง แต่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวอิสระ ไม่สังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นที่รู้จักจากการชูป้ายและทำโพลเกี่ยวกับขบวนเสด็จและเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 จนกลายเป็นประเด็นที่สั่นสะเทือนสังคมเป็นอย่างมาก
ช่วงที่ตะวันเรียนอยู่ชั้น ม.5 ที่ประเทศไทย เธอสอบเทียบวุฒิ ม.ปลายแบบอเมริกัน หรือ General Education Development (GED) ได้สำเร็จ และใช้ผลสอบยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด ที่มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ตะวันต้องเดินทางกลับบ้าน และเรียนออนไลน์แทน
เส้นทางการต่อสู้ของตะวัน
เมื่อตะวันกลับมาเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน เธอได้เห็นข่าวการยุบพรรคอนาคตใหม่ จึงทำให้เธอเริ่มรู้สึกสนใจการเมือง และตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2563 ก่อนจะเข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้ง และสมัครเป็นการ์ดอาสาสมัครของกลุ่ม We Volunteer (WeVo) ซึ่งทำให้ตะวันได้รู้จักเครือข่ายนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม ขณะเดียวกันเธอก็ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างทางสังคม ปัญหาปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงปัญหาการเมืองและสถาบันมากกว่าเดิม
หลังจากนั้น ตะวันถูกชักชวนจาก “กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ” ให้มาร่วมทำกิจกรรมร่วมกันอย่างจริงจัง โดยกิจกรรมแรกของตะวันคือการยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันครบรอบ 1 ปี การอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวชาวไทยที่ถูกลักพาตัวที่ประเทศกัมพูชา แล้วหลังจากนั้นตะวันก็เริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น
ทำไมต้องทำโพล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของตะวันมักมาพร้อมกับประเด็นการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยตะวันปรากฏตัวในกิจกรรมทำโพลครั้งแรกที่สยามพารากอน เมื่อเธอไปช่วยเพื่อนนักกิจกรรมทำโพล “ยกเลิกหรือสนับสนุน 112” และไปชูป้าย “คุกไม่ใช่ที่เคาท์ดาวน์ของคนเห็นต่าง” ที่ไอคอนสยาม ก่อนไปชู้ป้าย “ยกเลิก 112” ในงานรำลึกพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่
ตะวันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไท เล่าถึงจุดเริ่มต้นกิจกรรมการทำโพลของตัวเอง ระบุว่ามีนักกิจกรรมที่จังหวัดนครสวรรค์ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เธอจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาทำโพลสอบถามว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” หลังจากนั้นตะวันก็ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมผูกริบบิ้นสีแดงและสีน้ำเงิน ชูป้ายในพื้นที่ต่างๆ จนทำให้ตะวันถูกดำเนินคดีหลายครั้ง และกลายเป็นผู้ต้องหามาตรา 112
ประท้วงอดอาหาร
ตะวันถูกจับดำเนินคดีหลายครั้ง แต่เหตุการณ์ที่ทำให้สังคมรู้จักตะวันมากขึ้น คือเมื่อครั้งที่เธอและ “แบม - อรวรรณ ภู่พงษ์” ร่วมกันอดอาหารเป็นเวลามากกว่า 50 วันเพื่อประท้วงสิทธิการประกันตัวและข้อเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
และล่าสุด (14 ก.พ. 67) ตะวันก็ประกาศอดอาหารอีกครั้ง หลังจากโดนจับกุมในคดีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ พร้อมกับ “แฟรงค์ - ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร” โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งตะวันได้ฝากข้อความถึงสื่อมวลชน ระบุว่า
“นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเรือนจำ เราไม่เหลืออะไรนอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลือเหลืออยู่สู้ต่อไป หนูและแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อ 3 ข้อเรียกร้องโดยจะไม่ยื่นประกันตัว
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก
- ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน”
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ