รู้หรือไม่ ทำไมใช้คำว่า "บิ๊ก" เรียกนายทหาร-ตำรวจชั้นผู้ใหญ่
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเมืองไทยชอบใช้คำว่า “บิ๊ก” เรียกนำหน้าชื่อของนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในประเทศ อย่างบิ๊กตู่ บิ๊กป้อม บิ๊กโจ๊ก บิ๊กจิ๋ว ฯลฯ แล้วคำว่าบิ๊กที่ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และควรหยุดใช้หรือเปล่า วันนี้ Sanook ชวนทุกคนไปหาคำตอบว่าทำไมเราจึงใช้ว่า “บิ๊ก”
ทำไมต้องใช้คำว่า “บิ๊ก”
ที่มาที่ไปของการใช้คำว่า “บิ๊ก” เรียกนำหน้าชื่อนายทหาร-ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีหลากหลายที่มาและหลายแหล่งข้อมูล โดยที่มาอันแรกต้องย้อนกลับไปในสมัย “สงครามเวียดนาม” ซึ่งในช่วงเวลานั้น สื่อมวลชนของสหรัฐอเมริกาได้ตั้งฉายาให้กับนายพล “เซือง วัน มิญ” ซึ่งเป็นนายพลอาวุโสของกองทัพเวียดนาม ว่า “บิ๊กมิญ” (Big Minh) เนื่องจากนายพลผู้นี้มีอิทธิพลและมีอำนาจอย่างมากในเวียดนามใต้ โดยเขาเป็นผู้กระทำการรัฐประหารรัฐบาล โง ดิ่ญ เสี่ยม และเป็นผู้นำคนสุดท้ายของเวียดนามใต้ หลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง สื่อมวลชนไทยในช่วงทศวรรษที่ 2530 จึงนำคำว่า “บิ๊ก” มาใช้เรียกนายพลที่มีอิทธิพลในประเทศ
อีกที่มาหนึ่งคือนักข่าวในสมัยนั้นต้องการเขียนพาดหัวข่าวทหารให้มีความสั้นกระชับ เนื่องจากยศและชื่อของนายทหารยาวเกินไป จึงมีความพยายามเรียกชื่อเล่นแทน แต่จะเรียกแค่ชื่อเล่นก็จะดูห้วนเกินไป นักข่าวจึงเติมคำว่า “บิ๊ก” ที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Big แปลว่า “ใหญ่” ลงไปตรงหน้าชื่อเล่น โดยเริ่มมีใช้คำว่าบิ๊กในสมัยของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ “บิ๊กจิ๋ว” อดีตนายรัฐมนตรี จากนั้นก็มีการใช้คำว่าบิ๊กเรียกนำหน้าชื่อเล่นของนายทหารตำแหน่งใหญ่ระดับนายพลของกองทัพ ก่อนจะลามมาใช้กับวงการนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
“บิ๊ก” กับ “เสธ.” เหมือนกันไหม
อีกคำที่มักจะได้ยินเวลากล่าวถึงนายทหารที่มีอิทธิพลก็คือคำว่า “เสธ.” ซึ่งที่มาของคำเรียกนี้ มาจากนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการของเหล่าทัพต่างๆ และนายทหารทุกนายที่ได้สาย เสธ. และได้รับเครื่องหมายหัว เสธ. มาประดับเครื่องแบบแล้ว ก็มีสิทธิที่จะถูกเรียกว่า เสธ. เหมือนกับคำว่าผู้หมวด ผู้กอง ผู้พัน ผู้การ ฯลฯ ถือเป็นคำเรียกที่ไม่เป็นทางการนั่นเอง
นายทหารอาจถูกเรียกว่า เสธ. ไปตลอด หรือถูกเปลี่ยนไปเรียกด้วยตำแหน่งประจำอื่นๆ ที่ตัวเองได้รับหลังจากนั้นก็ได้ โดยนายทหารผู้ทรงอิทธิพลหลายคนก็สามารถถูกเรียกว่าบิ๊กได้ แต่คนจดจำในชื่อ เสธ. มากกว่า เช่น เสธ.แอ๊ว - พล.อ.อัครเดช ศศิประภา อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นต้น
ควรยกเลิกคำว่า “บิ๊ก” หรือไม่
สำนักข่าวประชาไทเคยชวนผู้อ่านตั้งคำถาม ในบทความเรื่อง “เรามาเลิกเรียกใครว่า “บิ๊ก” กันดีกว่าไหม??” โดยระบุว่า คำว่าบิ๊ก ที่นักข่าวต่างประเทศใช้ เป็นคำที่มีความหมายลบ เนื่องจากคำว่า “บิ๊ก” ย่อมาจากคำว่า “a big man” แปลว่าอันธพาล (Thugs) นอกจากนี้ คำว่าบิ๊กในทางรัฐศาสตร์ ยังเป็นวาทกรรมที่ทำให้คนฟังรู้สึกต่ำต้อย กล่าวคือวัตถุประสงค์ของการใช้คำนี้คือ เพื่อรักษาฐานะอำนาจให้กับผู้มีอำนาจเดิม ขณะเดียวกันก็ใช้กดหัวคนที่ถูกปกครอง