นิทรรศการ "Four Senses of Rights" เรื่องเล่าของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในสายตาคนรุ่นใหม่

นิทรรศการ "Four Senses of Rights" เรื่องเล่าของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในสายตาคนรุ่นใหม่

นิทรรศการ "Four Senses of Rights" เรื่องเล่าของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในสายตาคนรุ่นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการสิทธิมนุษยชน ‘Four Senses of Rights’ ผลงานนักศึกษาที่ถ่ายทอดเรื่องราวผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งผลงานทั้ง 4 เรื่องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights จัดทำโดย บรี - แสงเทียน เผ่าเผือก และ ฟ้า - อังคณา อัญชนะ

“นิทรรศการนี้เริ่มมาจากการที่เราอยากนำเสนอเรื่องราวของคนที่ถูกละเมิดสิทธิผ่านการมีส่วนร่วม โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 4 เราเชื่อว่าถ้าได้ทำอะไรด้วยตัวเอง มันจะจดจำได้ง่ายกว่า” บรีกล่าว

นิทรรศการ Four Senses of Rights จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ อาคาร Palette Artspace ย่านทองหล่อ โดยนำเรื่องราวของผู้คนจากโครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights ประจำปี 2566 ทั้ง 4 คน มานำเสนอผ่านผัสสะการดู การฟัง การสัมผัส และการดมกลิ่น ซึ่งบรีในฐานะนักศึกษาปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง และปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เธอกล่าวว่านี่คือโอกาสแรกในชีวิตของเธอในการจัดนิทรรศการเช่นนี้ 

ในขณะที่ฟ้า นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เป็นอีกหนึ่งนักศึกษาฝึกงานของแอมเนสตี้ ที่ได้เข้ามาฝึกงานฝ่ายแคมเปญ ฟ้าเล่าว่าเลือกที่จะจัดนิทรรศการในย่านทองหล่อ เพราะอยากให้ชนชั้นกลางในเขตเมืองได้สัมผัสความรู้สึกของการถูกกดขี่ และการที่คนรักถูกบังคับให้สูญหาย ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเรื่องราวของอันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ (Ana Maria Santos Cruz) แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอที่ประเทศบราซิล

“แคมเปญที่เราทำอาจจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันนี้หรือปีนี้ แต่ถ้าเราสามารถรวบรวมพลังของผู้คนได้นานพอ มันก็สามารถเปลี่ยนได้” ฟ้ากล่าว

ฟ้าได้เสริมจากไอเดียของบรีว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสื่อสารเรื่องราวผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ผ่านการพูดหรือการอ่าน แต่หลายครั้งคนทั่วไปก็ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ การให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมกับเรื่องราวจึงเป็นวิธีที่ดีกว่า ขณะที่บรีเล่าว่า มีคนที่มาฟังเรื่องราวของทูลานี มาเซโกะ (Thulani Maseko) ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในประเทศเอสวาตินี เขาบอกกับเธอว่าเรื่องราวดังกล่าวทำงานกับความรู้สึกของเขาเป็นอย่างมาก

“คนที่มานิทรรศการอย่างน้อยที่สุดจะได้เรียนรู้ว่ามีคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ทั่วโลก ผ่านเรื่องราวของพวกเขาที่เรานำมาจัดแสดง” บรีชี้

นิทรรศการ Four Senses of Rights

บรรยากาศนิทรรศการจัดขึ้นที่อาคาร Palette Artspace ย่านทองหล่อ รูปภาพของเจ้าของเรื่องราวทั้ง 4 คน ติดอยู่ที่ริมผนังทางเข้าฝั่งทางด้านซ้ายมือ ถัดไปเพียงไม่กี่ก้าวก็เจอเข้ากับแว่น VR ที่ฉายภาพน้ำทะเลที่ค่อยๆ กัดเซาะแผ่นดินของลุงพอลและลุงพาไบ ผู้นำชุมชน Guda Maluyligal Nation ทางตอนเหนือสุดของออสเตรเลีย พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อชุมชนดั้งเดิมของพวกเขา

จากตรงนั้นคือจอ LCD เปิดคลิปวิดีโอหนึ่งที่มีเพียงแต่สีดำ พร้อมซับไตเติลเสียงของใครคนหนึ่ง เมื่อลองสวมหูฟังฟังเสียงก็พบว่ามันกลายเป็นเสียงสะอื้น ที่พาผู้ฟังจมดิ่งไปกับเรื่องราวของทูลานี มาเซโกะ ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในประเทศเอสวาตินี ซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทูลานีเคยออกมาวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในประเทศของตัวเอง ก่อนถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 ต่อหน้าภรรยาของเขาที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทูลานี

ถัดไปฝั่งตรงข้ามของห้อง มีรูปของแม่ลูกคู่หนึ่งที่ถูกแขวนอยู่ระหว่างกลางของเสื้อสีดำสองตัว ด้านหน้ามีตาชั่งสองแขน ด้านหนึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ของอำนาจที่มีน้ำหนักมากกว่าเสียงของประชาชน ไม่ต่างอะไรจากเรื่องราวของอันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอที่มีชื่อว่า เปรโตร เฮนดริค นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวบราซิล ที่จัดกิจกรรมเดินเพื่อสันติภาพ เขาถูกสังหารโดยชายสวมฮูด 3 คน โดยมีการตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สังหารเขา แต่ทั้งหมดก็ยังลอยนวล อันนาผู้เป็นแม่จึงออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกของเธอ แต่เธอกลับถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

และปิดท้ายด้วยเรื่องราวของอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการชาวไทยที่ถูกจำคุกยาวนานถึง 87 ปี ขวดน้ำหอมสีดอกอัญชัญตั้งอยู่ที่ด้านหน้ารูปของเธอ แม้ดอกอัญชัญจะไร้กลิ่นหอม แต่ดอกอัญชัญก็มีกลิ่นและตัวตนเป็นของตัวเอง

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ นิทรรศการ "Four Senses of Rights" เรื่องเล่าของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในสายตาคนรุ่นใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook