จนท.กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังระบุไม่ได้ว่า นกปากห่างตาย ที่ จ.อยุธยาฯ ติดหวัดนกหรือไม่
เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ เก็บตัวอย่าง นกปากห่างจำนวนมากที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ในพื้นที่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เบื้องต้นยังระบุไม่ได้ว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์กว่า 60 นาย เดินทางไปยังพื้นที่เกาะกลางน้ำลำรางปลาหมู เขตพื้นที่ ม.3 และ 4 ต.โคกช้าง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสอบและเก็บตัวอย่างนกปากห่างที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้พบว่าตลอดระยะทางที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบนกปากห่างตายตลอดทาง โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บซากนกปากห่างใส่ถุงดำ เพื่อนำไปรวมที่เดียวกันและจะเผาและฝัง โดยการเข้าตรวจสอบครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้สวมชุดป้องกันเชื้อโรค พร้อมนำอุปกรณ์ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และถุงเก็บซากสัตว์ เข้าปฏิบัติหน้าที่เก็บซากนกปากห่าง และต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ระบาดของไข้หวัดนก
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด กระจายออกเก็บซากนกปากห่างจำนวนมากที่ตายตามใต้ต้นไม้ กลางทุ่งนา โดยสามารถเก็บซากนกได้เกือบ 1,000 ตัว เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างมูลของนกปากห่างที่ตายไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของการตายที่แท้จริง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงจะทราบผล
นายเรวัติ ประสงค์ นายอำเภอผักไห่ กล่าวว่า ได้เก็บตัวอย่างนกเป็นและนกตาย เพื่อส่งให้ปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ 1 ชุด และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1 ชุด เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุการตายที่แท้จริงว่ามาจากกินสัตว์น้ำที่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้าง หรือเกิดจากเชื้อไข้หวัดนก แต่จากการลงพื้นที่พบว่า สาเหตุการตายน่าจะมาจากกินสัตว์น้ำที่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้าง โดยพื้นที่ อ.ผักไห่ มีการปลูกข้าวจำนวนมากและก่อนหน้านี้มีปัญหาหอยระบาดหนัก และปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตานระบาดหนัก ทำให้ชาวนาเพิ่มปริมาณยาและสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูของต้นข้าว ซึ่งสารเคมีและยาฆ่าแมลงอาจตกค้างในสัตว์น้ำ แต่ยังไม่ตัดประเด็นไข้หวัดนกทิ้ง
ว่าที่ ร.ต.วีระศักดิ์ ว่องทรง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวัดไผ่ล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การตายอาจมาจากสารพิษตกค้างในสัตว์น้ำที่นกกินเข้าไป ไม่น่าจะเป็นจากภาวะไข้หวัดนก เพราะเชื้อโรคไข้หวัดนกจะระบาดในที่อุณหภูมิไม่สูงหรือในช่วงฤดูหนาว และไม่เคยปรากฏว่าเชื่อไข้หวัดนกจะระบาดในหน้าร้อน ซึ่งช่วงนี้อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา เชื้อโรคไม่สามารถระบาดได้ และในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาสำรวจเก็บตัวอย่างนกปากห่างในเขต อ.ผักไห่ไปแล้ว ผลการตรวจสอบก็ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกเช่นกัน
อย่างไรก็ตามการตายของนกปากห่างในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานกำลังวิตกว่า หากเป็นเชื้อไข้หวัดนกจริง ก็เท่ากับจะเกิดปัญหาในการป้องกันหรือรักษา เนื่องจากหากเกิดจากเชื้อไข้หวัดนกจริง ก็เท่ากับเชื้อโรคมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนต่อสภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหาทางป้องกันได้