ส.ว.แนะปฏิรูปฯ-ทวงคำพูด ความรับผิดชอบการเมือง

ส.ว.แนะปฏิรูปฯ-ทวงคำพูด ความรับผิดชอบการเมือง

ส.ว.แนะปฏิรูปฯ-ทวงคำพูด ความรับผิดชอบการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ส.ว.ใช้เวทีอภิปรายทั่วไป ตำหนิรัฐบาลใช้สื่อของรัฐป้ายสีผู้ชุมนุม ตั้งข้อหา "ก่อการร้าย-เป็นภัยต่อสถาบัน" วอนอย่ามีอคติว่าผู้ชุมนุมรับจ้างมา ย้ำรัฐบาลต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ให้ความเป็นธรรม พร้อมทวงคำพูดสมัยเป็นฝ่ายค้าน "ความรับผิดชอบทางการเมือง หลังทำร้ายประชาชน" ขณะเดียวกัน ส.ว.อีกส่วนเสนอให้ปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ จี้ทบทวนการข่าว ตัดสินใจเด็ดขาดแม้จะเกิดการสูญเสียบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมวุฒิสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปให้รัฐบาลชี้แจงการบริหารราชการ แผ่นดิน ในช่วงบ่ายวันนี้ (3 พ.ค.) ส.ว.ส่วนหนึ่ง ได้ตำหนิรัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชนที่เห็นต่างหรือฟังเฉพาะผู้สนับสนุน รัฐบาล และยังใช้สื่อของรัฐสร้างความเกลียดชัง โดยผลักให้ผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ส.ว.อีกส่วนหนึ่ง เสนอให้รัฐบาลปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา ส.ว.ชัยนาท กล่าวว่า รัฐบาลอย่าปิดประตูการเจรจา และต้องไม่ใช้กองกำลังติดอาวุธทำร้ายประชาชนอย่างเด็ดขาด อย่าเหมารวมว่า ผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มก่อการร้ายหรือมีแนวคิดที่เป็นภัยต่อสถาบัน และไม่ควรมีอคติว่า ชาวบ้านถูกจ้างให้มาชุมนุมหรือโง่ เพราะจากการสอบถามผู้ชุมนุมพบว่า ส่วนใหญ่ต่างได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารของรัฐบาล โดยรัฐบาลช่วยเหลือหรือทำโครงการไม่ตรงจุด ทั้งนี้หากไม่เดือดร้อนจริง คงไม่ออกมาตากแดด ตากฝนเคลื่อนไหว

ขณะที่นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ยิ่งประเทศอยู่ในสภาพสับสน สิ่งที่ต้องยึดมั่นไว้ คือ หลักการประชาธิปไตย ซึ่งคือ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ความยุติธรรมที่ต้องได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใด ในสมัยที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เคยพูดกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ว่า "ไม่มีรัฐบาลใดอยู่ได้โดยไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง ภายหลังการทำร้ายประชาชน รัฐไม่มีสิทธิ์ใช้กำลังทำร้ายประชาชน แม้ว่าประชาชนกลุ่มนั้นๆ จะทำผิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและร้ายยิ่งกว่าคือ กลับกลายเป็นว่า มีการป้ายสีประชาชนไปในทางลบด้วย" วันนี้เมื่อเกิดเหตุทำนองเดียวกัน จึงขอให้นายกรัฐมนตรีนึกถึงสิ่งที่เคยพูดไว้ และยึดหลักดังกล่าวด้วย

ส่วนนายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง อย่าทำให้เกิดความรู้สึก 2 มาตรฐาน ในอดีตได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ขึ้นมา แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขแม้แต่ประเด็นเดียว ทั้งนี้เชื่อว่า หากมีการปฏิรูปจะช่วยผ่อนคลายปัญหาการเมืองที่สะสมมานานให้ดีขึ้น

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เสนอให้รัฐบาลทบทวนงานด้านการข่าวทั้งหมด โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีตำรวจและทหารทั้งในและนอกราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลต้องปรับกลไกบังคับใช้ข้าราชการผ่านหน่วยงานระดับจังหวัด หากกลไกเหล่านี้ไม่ทำงานก็ควรโยกย้าย รวมถึงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกด้วย อย่าปล่อยให้กลายเป็น "รวันดาโมเดล" นอกจากนี้รัฐบาลต้องตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ และปิดพื้นที่เคลื่อนไหวทั้งหมด ขณะนี้กำลังมีการวัดกำลังกับรัฐบาล ซึ่งคนกลุ่มนั้นมีความพร้อมทั้งพรรค เงิน มวลชน และกองกำลัง โดยต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ ในเมื่อทำอะไรก็ต้องมีการสูญเสียอยู่แล้ว หากสูญเสียเพียงเล็กน้อยก็ควรทำ

ส.ว.สรรหา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรประกาศวาระแห่งชาติ จัดตั้งกรรมการปฏิรูปประเทศไทยทันที โดยออกเป็นมติ ครม.หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมและมีเป้าหมาย 11 ประการ คือ 1.ธรรมาภิบาลในระบบการเมืองการปกครอง 2.กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดเสรีภาพในการดำรงอยู่ในสังคม 3.ระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ 4.การสร้างความเข้มแข็งของชุมนุมท้องถิ่น 5.การสร้างให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ของประเทศไทย 6.การสร้างจิตสำนึกใหม่ปรับทิศทางในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน 7.การกำหนดให้มีการวิจัยยุทธศาสตร์ของชาติร่วมกัน 8.การปฏิรูประบบสุขภาพเพี่อสุขภาวะของมวลชน 9.การสร้างดุลยภาพด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 10.การสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า และ 11.การปฏิรูปการสื่อสารที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทั้งหมด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook