แค่ 3 เดือน คนโคราช "อาหารเป็นพิษ" กว่า 600 ราย จนท.ต้องย้ำฤดูร้อนควรกินอย่างไร

แค่ 3 เดือน คนโคราช "อาหารเป็นพิษ" กว่า 600 ราย จนท.ต้องย้ำฤดูร้อนควรกินอย่างไร

แค่ 3 เดือน คนโคราช "อาหารเป็นพิษ" กว่า 600 ราย จนท.ต้องย้ำฤดูร้อนควรกินอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ควบคุมโรคที่ 9 เผย ช่วง 3 เดือน ชาวโคราชป่วยท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ 600 กว่ารายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก หน้าร้อนอาหารบูดเสีย เชื้อโรคปนเปื้อนง่าย ทานอาหารต้องระวัง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

นครราชสีมา – วันนี้ (16 มีนาคม 2567) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้รายงานความคืบหน้าสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษใน 4 จังหวัดพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ว่า จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ถึง 2 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วยมากถึง 2,738 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยแยกเป็นรายจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยมากสุด 1,270 ราย รองลงมา คือ จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 625 ราย , จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 619 ราย และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 223 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์โรคอหิวาตกโรค ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ดูแล

ในขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ถึง 8 มีนาคม 2567 มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 21,214 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ตามลำดับ

ซึ่งสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงนี้ เสี่ยงมีอาการป่วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำได้ โดยโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจมีถ่ายเหลว อาการมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ส่วนโรคอหิวาตกโรค เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนหรือพิษของเชื้อปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารทะเล อาหารสุกๆ ดิบๆ ทำให้ผู้ป่วยท้องเสีย อุจจาระมีสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว อาเจียน ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว นำไปสู่ภาวะขาดน้ำและช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ดังนั้น ประชาชนจะต้องตรวจดูอาหารที่รับประทานด้วยว่าบูดเสียหรือไม่ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานและปริมาณมาก เช่น กับข้าวที่วางขายในตลาดต่างๆ , ข้าวกล่องที่เตรียมไว้บริการผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาต่างๆ รวมทั้ง อาหารกลางวันของเด็กนักเรียน หากบูดเสีย มีเชื้อโรคปนเปื้อน รับประทานเข้าไปจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด และมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ ซึ่งผู้อื่นที่ไปสัมผัสอุจจาระและอาเจียนที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ก็สามารถจะติดเชื้อแล้วทำให้มีอาการป่วยได้

นอกจากนี้ ขอให้ป้องกันตนเอง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาด ล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทาน ข้าวกล่องควรแยกกับข้าวบรรจุใส่ถุง ไม่ควรตักราด อาหารบุพเฟ่ต์ไม่ควรเตรียมไว้ข้ามมื้อ หากปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน และหากได้รับเชื้อ มีอาการป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส บ่อยๆ ป้องกันร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ แค่ 3 เดือน คนโคราช "อาหารเป็นพิษ" กว่า 600 ราย จนท.ต้องย้ำฤดูร้อนควรกินอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook