NASA ขึ้นบินแล้ว สำรวจมลพิษทางอากาศไทย หวังนำข้อมูลไปแก้ปัญหาได้ถูกจุด

NASA ขึ้นบินแล้ว สำรวจมลพิษทางอากาศไทย หวังนำข้อมูลไปแก้ปัญหาได้ถูกจุด

NASA ขึ้นบินแล้ว สำรวจมลพิษทางอากาศไทย หวังนำข้อมูลไปแก้ปัญหาได้ถูกจุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์กรนาซ่า (NASA) ส่งเครื่องบินสองลำ บินสำรวจอากาศบนน่านฟ้าไทย ภายใต้ความร่วมมือกับหลายองค์กรและประเทศภาคี เช่น เกาหลีใต้ มุ่งเป้าค้นหาสารพิษหลักและสาเหตุที่ก่อมลพิษทางอากาศในไทย โดยทำการบินระหว่างวันที่ 16-25 มี.ค. นี้ และหวังว่าจะเผยผลสำรวจและวิเคราะห์ได้ภายใน 1 ปี

โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา (NASA) ได้แถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เผยความร่วมมือขององค์การนาซากับหน่วยงานและภาคีระหว่างประเทศ เช่น สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเกาหลีใต้ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอ ภ.) หรือ GISTDA ของไทย เพื่อศึกษาคุณภาพอากาศในประเทศไทย ผ่านโครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ)

ความร่วมมือดังกล่าวจะมีการทำงานร่วมกันกับนักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานด้านคุณภาพอากาศ และรัฐบาลของประเทศในความร่วมมือ เพื่อรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศโดยละเอียดในหลายพื้นที่ทั่วเอเชีย โดยใช้เครื่องบินสถานีบนพื้นดิน ตลอดจนดาวเทียม เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

ทุกขั้นตอนในโครงการนี้ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานด้านคุณภาพอากาศและรัฐบาลของประเทศในความร่วมมือ ทั้งนี้ สาธารณชนจะได้ทราบผลของโครงการภายใน 1 ปี

ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สทอภ. กล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ริเริ่มการทำงานร่วมกับนานาชาติ แสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างนาซา กับไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย เพื่อสร้างพลวัตในการทำงานร่วมกัน

“มลพิษทางอากาศเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะ PM 2.5 ที่ค่อนข้างรุนแรงในประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และตอนกลางของไทยได้รับผลกระทบอย่างมากในขณะนี้”

โดยผอ. สทอภ.กล่าวด้วยว่าปฏิบัติการนี้จะมีความความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ และมีระบบติดตามคุณภาพอากาศได้อย่างแม่นยำ การพยากรณ์อากาศแม่นยำ รวมถึงระดับมลพิษที่จะทำให้เรารู้ว่ามลพิษหนักในช่วงใด และช่วยให้คนไทยได้วางแผนกิจกรรมได้

ด้าน ดร. Barry Lefer นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ จากแผนกวิทยาศาสตร์พื้นพิภพองค์การนาซากล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของหลายประเทศได้แก่ สหรัฐ, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, ไทย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นห้าเมืองหลักในเอเชียที่กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศมากที่สุด เนื่องจากมีการขยายการพัฒนาและอุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเลือกเก็บประเทศไทยไว้สุดท้ายเพราะต้องใช้เวลามาก โดยประเทศไทยมีการเผาทางเกษตรกรรมค่อนข้างมาก และโครงการนี้เป็นปีแรกที่เริ่มเก็บข้อมูลและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถดำเนินการต่อเนื่องต่อไปอีก 5 ปี

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้ร่วมในการเปิดโครงการฯ ระบุว่า โครงการนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจที่หน่วยงานภายใต้กำกับของ อว. ได้ร่วมมือกับทางองค์การนาซา

“ซึ่งทราบกันดีว่าปัญหามลพิษทางอากาศของไทยเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งนี้การบินบน่านฟ้าไทยก็เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้วยมซึ่งหน่วยงานความมั่นคงของไทยก็ได้อนุมัติ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคือ ได้รับข้อมูลทั้งหมด และทำวิจัยไปสู่ความเข้าใจต้นตอของปัญหา เพื่อทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศจะบรรเทาเบาบางลงจนไม่เป็นปัญหาของประเทศอีกต่อไป”

สำหรับเครื่องบินที่ขึ้นปฏิบัติการ 2 ลำ ประกอบด้วย DC-8 ซึ่งจะทำการบินเหนือเป็นแนวตั้ง จากสนามบินอู่ตะเภาถึงเชียงใหม่ แล้ววนกลับมาลงที่อู่ตะเภา โดยใช้เวลาบินครั้งละประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อตรวจจับสารพิษและฝุ่นละอองมาทำการวิเคราะห์ และเครื่องบิน G-III จะทำการบินในแนวนอนจากสนามบินอู่ตะเภา ไป-กลับเป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร

นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลทางอากาศในระดับเหนือน้ำทะเลไม่เกิน 28,000 ฟุตแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับดาวเทียม GEMS (Geostationary Environment Monitoring Spectrometer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดที่ติดตั้งบนดาวเทียม KOMPSAT-2B ของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ที่จะทำหน้าที่บันทึกข้อมูลคุณภาพอากาศในเอเชียซึ่งรวมถึงไทยในช่วงเวลากลางวันประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook