กรมควบคุมโรคเตือนระวังไข้เลือดออกช่วงเปิดเทอม

กรมควบคุมโรคเตือนระวังไข้เลือดออกช่วงเปิดเทอม

กรมควบคุมโรคเตือนระวังไข้เลือดออกช่วงเปิดเทอม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตือนผู้ปกครองและอาจารย์ในโรงเรียนดูแลเด็กใกล้ชิดในช่วงเปิดเทอมนี้ หลังพบยอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกว่า 13,000 คน และเสียชีวิตแล้ว 17 คน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะรวมกันแล้วเกือบ 10,000 คน

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 4 พฤษภาคม 2553 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 13,973 คน คิดเป็นอัตราป่วย 22.00 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยเสียชีวิต 17 คน อัตราป่วยตายร้อยละ 0.12 เมื่อแยกเป็นรายภาค พบว่าภาคกลาง มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 6,843 คน คิดเป็นอัตราป่วย 31.91 เสียชีวิต 6 คน รองลงมา คือภาคใต้ พบผู้ป่วย 3,142 คน คิดเป็นอัตราป่วย 35.65 เสียชีวิต 6 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 2,806 คน คิดเป็นอัตราป่วย 13.05 เสียชีวิต 2 คน และภาคเหนือ พบผู้ป่วย 1,182 คน คิดเป็นอัตราป่วย 10.04 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 3 คน ซึ่งต้องเฝ้าระวังภาคกลางและภาคใต้เป็นพิเศษ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วย 2 ภาคนี้ รวมกันเกือบ 10,000 คนแล้ว และผู้เสียชีวิตรวม 12 คน

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โรงเรียนเปิดเทอมในเกือบทุกระดับ อาจเกิดการระบาดในกลุ่มเด็กนักเรียนและแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะเป็นช่วงหน้าฝน จึงต้องเร่งป้องกันควบคุมโรค โดยเร่งรัดการรณรงค์ใน 3 มาตรการ ได้แก่ 1. จัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้านไม่ให้มีภาชนะที่มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรค 2. มาตรการในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย เช่น ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่มีน้ำขัง อาทิ น้ำที่หล่อขาตู้กับข้าว แจกัน กระถางต้นไม้ ทุก 7 วัน และปล่อยปลาในแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นต้น และ 3. มาตรการในการกำจัดยุงลายตัวแก่ เช่น การพ่นยากำจัดยุงตามสถานที่ต่าง ๆ

"โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนและ โรงเรียนได้ ดังนี้ 1. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้และตระหนักถึงภัยของโรค 2. ทำให้โรงเรียนปลอดลูกน้ำยุงลาย โดยตรวจสอบและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ 3. นักเรียนและผู้ปกครองต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน หากพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง มีจุดเลือดออกตามตัว หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแอสไพริน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย เพราะอาจเป็นโรคไข้เลือดออกและอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ หรือสอบถามได้ที่สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3103" นพ.ประพนธ์ กล่าว.

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook