ใกล้ความจริง! ไทยผ่านร่างกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ต่างชาติยกย่อง ประเทศแรกในภูมิภาค

ใกล้ความจริง! ไทยผ่านร่างกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ต่างชาติยกย่อง ประเทศแรกในภูมิภาค

ใกล้ความจริง! ไทยผ่านร่างกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ต่างชาติยกย่อง ประเทศแรกในภูมิภาค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สภาผู้แทนราษฎรไทยผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อวันพุธ ระหว่างที่ประเทศกำลังขยับเข้าใกล้การเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยอมรับการแต่งงานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “ก้าวแรกที่ยอดเยี่ยม” สู่ความเท่าเทียมทางเพศสภาพอย่างสมบูรณ์

สภาผู้แทนราษฎรไทยมีมติ 399 ต่อ 10 เสียง สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ และมี ส.ส.ในสภาบางส่วนที่โบกธงสีรุ้งหลังการลงมติครั้งประวัติศาสตร์นี้ และเพื่อให้กลายเป็นตัวบทกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนี้จะต้องได้รับมติเห็นชอบจากวุฒิสภาและได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในลำดับต่อไป

หากกฎหมายผ่าน ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านกฎหมายในลักษณะนี้ และเป็นประเทศที่สามในเอเชียต่อจากได้หวันและเนปาล

ที่ผ่านมา ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่มีความเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย แม้ว่ากฎหมายที่มีอยู่จะล้มเหลวในการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเพศสภาพในสังคมก็ตามที

สำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งยากต่อการแก้ไขในทางกฎหมาย ซึ่งนาดา ไชยจิตต์ หญิงข้ามเพศที่เป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย และที่ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวกับวีโอเอว่า “เราได้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้แล้ว” และว่า “เราเดินทางมาไกลมากในการปกป้องสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน ปูทางสำหรับสังคมในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการลดการเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงที่มีในกฎหมายเดิม และเพิ่มบทบัญญัติในการคุ้มครองตัวบุคคล”

ระหว่างที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้จะมีผลในทางปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ให้สิทธิ์ในการรับมรดก การลดหย่อนภาษี และการมอบอำนาจทางการแพทย์ สำหรับคู่รัก LGBTQ แต่คู่สมรสเพศเดียวกันที่อุปการะบุตรภายใต้กฎหมายนี้จะยังต้องเลือกใช้ระหว่างคำว่า “พ่อ” หรือ “แม่” ในการระบุเพศสภาพเท่านั้น

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ ที่ปรึกษา กมธ.วิสมรสเท่าเทียม กล่าวกับวีโอเอด้วยว่า “การผ่านร่างกฎหมายนี้เป็นก้าวแรกที่ยอดเยี่ยม .. แต่มันก็แค่ก้าวแรกเท่านั้น”

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ในแง่ของการกระตุ้นการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งร่างกฎหมายนี้ยังถือเป็นชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้าในรัฐบาลของเขา หลังจากมีกระแสวิจารณ์ว่าการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ปิดกั้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างหลายอย่างเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเมื่อปีก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook