โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน ระบาดในญี่ปุ่น ผู้ป่วยพุ่ง 517 ราย อย่าประมาทแม้แผลเล็กๆ
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ที่ว่าการมหานครโตเกียว เมืองหลวงประเทศญี่ปุ่น ออกคำเตือนหลังพบจำนวนคนติดเชื้อโรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า (flesh-eating-disease) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ “สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ” เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ทั้งประเทศญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนแล้ว จำนวน 517 ราย ซึ่งสูงกว่า 5 ปีก่อน ถึง 4 เท่า โดยในกรุงโตเกียวพบคนติดเชื้อแล้ว 88 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึงประมาณ 3 เท่า ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีความอันตราย เพราะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% เมื่อติดเชื้อ ผู้ป่วยมักมีไข้สูงอย่างฉับพลันและความดันโลหิตต่ำ อาจทำให้อวัยวะสำคัญ อย่างปอด ตับ หรือหัวใจล้มเหลว
เจ้าหน้าที่แนะนำให้ประชาชนไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการป่วย เช่น ปวดและบวมที่แขนขา หรือมีไข้สูง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้การติดเชื้อ พร้อมกับรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ และดูแลบาดแผลให้ดี
โดยทั่วไปโรคแบคทีเรียกินเนื้อพบได้น้อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น เบาหวาน ตับแข็ง ไตวาย ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบหรืออุดตัน ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์ ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน และกลุ่มเกษตรกรและชาวนาที่มักเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างการทำงาน และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือน้ำ จากการเดินลุยหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างการทำเกษตรกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ที่มีบาดแผลเล็กน้อย เช่น ของมีคมบาดหรือตำ แมลงสัตว์กัดต่อย ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่มีแผลหลังการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่มีแผลหลังจากการป่วยด้วยโรคสุกใส แต่ไม่ได้รับการทำความสะอาดบาดแผล หรือทำความสะอาดบาดแผลไม่เหมาะสม สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้เช่นกัน
ด้านกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้นั้น โรคแบคทีเรียกินเนื้อสามารถเกิดได้ในทุกเพศและวัย แต่จากสถิติช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในญี่ปุ่นพบว่าในแต่ละปีผู้ป่วย 90% จะเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป และในปี 2023 ที่ผ่านมาพบการติดเชื้อในกลุ่มอายุ 40-50 ปี เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ฮิโตชิ ฮอนดา ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อ ที่มหาวิทยาลัยสาธารณสุข ฟูจิตะ ในญี่ปุ่น กล่าวว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน ไม่ใช่โรคระบบทางเดินหายใจ เหมือนกับโรคปอดบวม หรือโรคโควิด ที่สามารถเกิดการแพร่ระบาด-ติดเชื้อได้จากการหายใจ หรือสัมผัสละอองฝอย สารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ ทำให้โอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่นั้นยังคงมีโอกาสเกิดต่ำอยู่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 “กรมควบคุมโรค” ได้ออกมาโพสต์อัปเดตติดตามสถานการณ์ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ หรือ โรคไข้อีดำอีแดง หรือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด
โดยระบุว่า ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ สังเกตอาการเบื้องต้น หากมี ไข้ เจ็บคอ หรือมีตุ่มหนองที่ผิวหนัง ร่วมกับมีผื่นคล้ายกระดาษทราย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับในปี 2567 นี้ ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย”