ไทยพีบีเอส รวมสมอง ค้นจุดแข็ง สร้างพายุหมุน ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ไปถึงระดับโลก
ถือเป็นเวทีที่รวมเหล่ากูรู ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านซอฟต์พาวเวอร์ ไว้มากที่สุดเวทีหนึ่ง สำหรับงาน “Brainstorm Soft Power สร้างพายุหมุน ส่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปสู่สากล” ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จัดขึ้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นพื้นที่ในการสนับสนุน และผลักดันทุนทางวัฒนธรรม ให้ไปสู่อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ในเวทีสากล
งาน “Brainstorm Soft Power สร้างพายุหมุน ส่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปสู่สากล” ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายวงการ มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ทิศทาง และวิธีการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่มีคุณภาพ ได้แก่ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์, คุณชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านอาหาร, คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านละคร และซีรีส์, คุณวิเชียร ฤกษ์ไพศาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านดนตรี, ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ, คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ และคุณคำหอม ศรีนอก คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านหนังสือ รวมไปถึง นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิจากอีกหลากหลายภาคส่วน ที่มาร่วมกันคิด ร่วมกันคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ ด้านต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางในการแปรเปลี่ยนสายลมทางวัฒนธรรม สู่พายุที่จะนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ตลาดโลก
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ ไทยพีบีเอส ได้ปักหมุดยุทธศาสตร์ทางเนื้อหาขององค์กรในเรื่องของการผลักดันทุนทางวัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งนอกจากไทยพีบีเอส จะมีบทบาทในเรื่องของการผลิตสื่อที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม มากไปกว่านั้น ไทยพีบีเอส จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ให้ไปสู่ในระดับนโยบาย ไปสู่เป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้น และวัดผลได้จริง รวมไปถึงการร่วมสนับสนุน ส่งเสริม ผู้ผลิตอิสระ หรือ Content Creator ของสังคมไทย ให้ได้มีโอกาสและพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานด้วย โดยหวังว่างานในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟือง ในการผลักดันเชิงระบบครั้งใหญ่ของประเทศ จะไม่ใช่เพียงแค่การจัด events แล้วหายไป เหมือนแค่กระแสลมพัดผ่าน แต่เป็นการขับเคลื่อนที่อยากชวนทุกคนติดตาม ซึ่งไทยพีบีเอสก็จะเป็นแรงเคลื่อนหนึ่งในบทบาทของสื่อสาธารณะที่เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ (More than TV) เพื่อให้ประชาชนจำนวนมากได้ประโยชน์จากจุดหมุนครั้งนี้
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ กล่าวว่า การผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ มี Pain point ในทุกด้าน ไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านภาพยนตร์ โดยมองปัญหา หรือจุดอ่อนในการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์หลัก ๆ มีอยู่ 3 ประเด็น คือ เรื่องของการควบคุมสื่อ หรือเรื่องของกฎหมายที่มาควบคุม, เงินทุน และเรื่องของสิทธิ เสริภาพ อิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน
ด้านชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านละคร และซีรีส์ กล่าวถึงปัญหาของวงการละคร และซีรีส์ ว่า ด้วยปัจจุบัน มีความต้องการซีรีส์เพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มี Content ที่จะนำมาสร้างเป็นซีรีส์ค่อนข้างที่จะขาดแคลน และเนื้อหายังวนเวียนอยู่ในเรื่องแบบเดิม ๆ ซึ่งมองว่าประเทศไทย มีองค์ความรู้จากท้องถิ่นที่จะสามารถนำมาเล่าได้อีกเยอะ แต่ยังคงติดปัญหาการเข้าไม่ถึงผู้ลงทุน ที่จะสามารถนำเสนอไอเดียต่าง ๆ เหล่านี้ได้ รวมไปถึงโอกาสในการนำเอาผลงานไปนำเสนอในตลาดระดับสากล ที่ยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย
เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านอาหาร กล่าวว่า โอกาสของอาหารไทยในตลาดโลกยังมีอีกเยอะ แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของบุคลากรด้านอาหารในระดับมืออาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมให้มีการ reskill และ upskill ในส่วนนี้ และนอกจากในเรื่องของอาหารแล้ว เห็นว่า โอกาสของเครื่องดื่มไทย ในตลาดระดับโลก ก็ยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกสูงมาก จึงอยากให้คนที่มีศักยภาพ และเห็นโอกาสตรงนี้ ลงมือทำเลย
ส่วนนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึงการผลักดันทุนทางวัฒนธรรม ให้ไปสู่อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีสากลในครั้งนี้ ว่า จะต้องเป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนชีวิตของคนไทยได้เลย ซึ่งการที่จะสร้างระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ อย่างจริงจัง จะต้องมีการสร้างคน สร้างอุตสาหกรรม และสร้างตลาดโลก ซึ่ง พ.ร.บ. THACCA ได้ร่างเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะ ในช่วงเดือน เม.ย. นี้ ซึ่ง THACCA จะเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติ คาดว่า จะนำเสนอเข้าสู่สภาฯ ได้ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และน่าจะเกิด THACCA ได้ ในช่วงกลางปี 2568
นอกจาก ความเห็นจากเหล่ากูรูซอฟต์พาวเวอร์ ที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนภายในงานแล้ว ยังได้มีการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานซอฟต์พาวเวอร์ อีกหลายท่าน โดยมีข้อสรุปถึงปัจจัยที่มีผล และเป็นทางออกของการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ไปถึงระดับโลกได้ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงตั้งแต่ฐานราก, รัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง, การสร้างระบบนิเวศของซอฟต์พาวเวอร์, การสร้าง Mindset ความคิดสร้างสรรค์ ทันโลก มีความเป็นสากล, การสร้างโอกาสสู่การต่อยอด และแลกเปลี่ยน จนสามารถผลักดันไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ซึ่งจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
สำหรับผู้ที่พลาดการรับชม เวที “Brainstorm Soft Power สร้างพายุหมุน ส่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปสู่สากล” ครั้งนี้ สามารถติดตามชมได้ที่ YouTube : Thai PBS และร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ได้ที่แพลตฟอร์ม Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย https://policywatch.thaipbs.or.th/home
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram, Threads
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
[Advertorial]