เครนถล่มโรงงานระยอง ประท้วงห้ามเคลื่อนย้ายศพ สุดท้ายนายจ้างยอมจ่ายศพละ 1.6 ล้าน
เครนถล่มโรงงานระยอง คนงานประท้วง ล้อมรถกู้ภัยไม่ให้นำศพออก สุดท้ายเจรจาได้ข้อยุติ จ่ายศพละ 1.6 ล้าน
จากกรณีเครนถล่มทับแรงงานเมียนมา เสียชีวิตรวม 7 ศพ ที่ไซต์ก่อสร้างโรงงานหลอมเหล็ก ม.2 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ภายหลังเกิดเหตุ แรงงานพม่าประมาณ 500 คน ลุกฮือขวางไม่ให้นำศพออกจากจุดเกิดเหตุ เพื่อเรียกร้องเงินเยียวยา ศพละ 5 ล้านบาท ก่อนจะปักหลักยืดเยื้อกว่า 6 ชั่วโมง ยังตกลงกันไม่ได้ หนึ่งในแรงงานเผยเหตุที่ไม่เชื่อใจนายจ้าง อ้างว่าเคยเกิดเหตุไฟช็อตคนตาย แต่นายจ้างกลับเบี้ยวไม่ยอมจ่าย พร้อมจี้ให้ตรวจสอบเนินเขาหลังโรงงาน เพราะอ้างว่ามีการฝังศพแรงงานไว้
เมื่อเวลา 00:00 น. วันที่ 30 มี.ค. 67 พ.ต.อ.ชัยพงษ์ แสงพงษ์ชัย ผกก.สภ.ปลวกแดง ระยอง พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางเข้าไปเจรจา กับแรงงานพม่า จำนวนกว่า 500 คน ที่ปิดล้อมรถกู้ภัยที่บรรทุกศพผู้เสียชีวิต 7 ศพ เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เปิดเผยว่า ขณะกำลังจะนำศพส่ง รพ.ปลวกแดง ปรากฎว่าแรงงานพม่า ได้ปิดล้อมไม่ให้รถกู้ภัยที่บรรทุกศพออก โดยพูดผ่านล่ามว่า ต้องการให้ทางบริษัททำข้อตกลงจ่ายเงินศพละ 5 ล้านบาทก่อน จึงจะยอมให้นำศพออกไป โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยเผยว่า ขณะนั่งอยู่ในรถกำลังนำศพออก ชาวเมียนมาก็กรูกันเข้ามาล้อมรถ ทุบกระจกจนร้าว บางคนก็กระโดดขึ้นมาเหยียบบนฝากระโปรงรถ ยังปรากฎรอยเท้าให้เห็นอยู่ ตอนนั้นตนก็กลัวจึงไม่กล้านำศพออกนอกโรงงาน
พ.ต.อ.ชัยพงษ์ แสงพงษ์ชัย ผกก.สภ.ปลวกแดง ได้กล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานเมียนมาร่วม 500 คน ยังคงปักหลักและไม่ยอมให้นำศพออกจากจุดเกิดเหตุ เพราะยังตกลงกันไม่ได้ โดยทางญาติผู้เสียชีวิต เรียกร้องมาในตอนแรก ศพละ 5 ล้านบาท จนกระทั่งมีการเจรจาจนลดลงมาอยู่ที่ 2 ล้านบาท ไม่รวมเงินประกันสังคม แต่ทางนายจ้างยังไม่รับข้อเสนอ ซึ่งจะมึการเจรจากันใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย
ด้านนายสมมาตร อนันต์ธราชัย จัดหางาน จ.ระยอง พร้อมเจ้าหน้าที่ประกันสังคม จ.ระยอง ได้กล่าวว่า สำหรับแรงงานที่เสียชีวิต เป็นผู้ประกันตน เป็นแรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมาย ซึ่งกรณีเสียชีวิต ก็จะได้รับเงินประกันตน ประมาณ 8 แสนกว่าบาท แต่ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
.ขณะที่ นางสว่างจิต เลาหโรจนพันธ์ สส.เขต5 ระยอง และ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.เขต4 ระยอง ได้เดินทางมาที่ ไซต์งานเครนถล่ม โดยร่วมกันหาทางออก กับ พล.ต.ต.พงษ์พันธ์ วงศ์มณีเทศ ผบก.ภ.จว.ระยอง พ.ต.อ.ชัยพงษ์ แสงพงษ์ชัย ผกก.สภ.ปลวกแดง นายสกนธ์ กรกฎ นายอำเภอปลวกแดง รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิต และ ผู้บริหารโรงงาน
นายชุติพงศ์ ได้กล่าวว่า เบื้องต้น จะให้ทางญาติผู้เสียชีวิตมาลงชื่อไว้ก่อน ส่วนเรื่องเงินเยียวยาจะมีการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม พร้อมตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งจะมีการเจรจาร่วมกันระหว่างนายจ้างและผู้สูญเสียอีกครั้ง
ต่อมาเวลา 00:00 น. วันที่ 30 มี.ค 67 ตัวแทนจาก สหภาพแรงงานชาวเมียนมาจาก WAG ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวเมียนมา ได้เดินทางมาที่ไซต์งานเกิดเหตุ โดยมีแรงงานเมียนมา กว่าร้อยคนเดินออกมาต้อนรับ แล้วพาเข้าไปยังจุดที่ปักหลักชุมนุม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับ ก่อนที่ทั้งหมดจะเข้าไปร่วมเจรจาร่วมกับนายจ้าง ญาติผู้เสียชีวิต
หลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายชุติพงศ์ สส.เขต3 ระยอง ได้ออกมากล่าวว่า จากการร่วมการเจรจา โดยมีญาติผู้เสียชีวิต เจ้าของโรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมาและ สส.ระยอง เขต3 และเขต5 นายอำเภอปลวกแดง และ ตำรวจ สรุปว่าจะมีการทำสัญญาระหว่างนายจ้าง กับ ญาติผู้เสียชีวิต และ มีตัวแทนสหภาพแรงงานชาวเมียนมา เป็นผู้กำกับดูแล โดยตกลงเงินเยียวยากันที่ 1,600,000 บาท รวมเงินประกันสังคม ส่วนเงินเยียวยาอื่นๆ เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ทางโรงงานจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายงานศพทั้งหมด โดยจ่ายก่อนศพละ 5 แสนบาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้หลังจากที่ลงนามเซ็นสัญญา ก็ต้องเปิดทางให้รถกู้ภัยนำศพผู้เสียชีวิต ออกไปส่งที่ รพ.ปลวกแดง
ต่อมา ตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมา ได้แปลข้อตกลงเป็นภาษาเมียนมา พอพูดจบแรงงานที่ปักหลักชุมนุม ต่างก็ปรบมือยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ต่างไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว
หลังจากที่ญาติผู้เสียชีวิตและตัวแทนโรงงาน ได้ลงนามในสัญญาเสร็จ แรงงานที่ปักหลักชุมนุม ก็เริ่มทยอยแยกย้ายกันออกไป เปิดทางให้รถกู้ภัยจำนวน 4 คันที่บรรทุกศพผู้เสียชีวิตจากเครนถล่ม เดินทางส่งไปชันสูตรที่ รพ.ปลวกแดง ต่อไป