เด็กอายุไม่ถึงขวบ จู่ๆ มือเท้ากลายเป็นสีม่วง ที่แท้ยายป้อน "น้ำผึ้ง" กลายเป็นยาพิษ
เด็กอายุไม่ถึงขวบ จู่ๆ มือเท้ากลายเป็นสีม่วง ที่แท้ยายแอบป้อน "น้ำผึ้ง" หมอเตือนอันตรายถึงตาย ห้ามให้กินเด็ดขาด
บางครอบครัวที่มีลูกวัยทารก แต่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน นอกจากการจ้างพี่เลี้ยงแล้ว การฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่มักจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการการเลี้ยงลูกของคนสมัยก่อน ที่มีความแตกต่างและมักจะขัดแย้งกับพ่อแม่ในยุคปัจจุบันไม่น้อย
ดร.หวง ซื่อหลุน กุมารแพทย์จีน เจ้าของเพจ Heilun Doctor เผยเคสเด็กชายอายุไม่ถึง 1 ขวบ รายหนึ่ง ถูกส่งตัวไปยังแผนกฉุกเฉินเนื่องจากมือและเท้าของทารกเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินม่วง ต้องสงสัยว่าเป็นพิษจากโรคโบทูลิซึมในเด็ก
คุณหมอเผยว่า แขนขาเด็กเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินและสีม่วง ออกซิเจนในเลือดเหลือเพียงประมาณ 90% หลังจากถามสมาชิกในครอบครัว เราก็ได้รู้ว่าทารกเพิ่งได้รับน้ำผึ้งจากคุณยายของเธอ
ทางคุณยายเองก็ตกใจเช่นกันที่จู่ๆ หลายป่วยหนัก โดยอธิบายว่า ได้ยินมาว่าน้ำผึ้งช่วยขับถ่ายได้ “ฉันเห็นว่าเขาท้องผูกบ่อย ๆ เลยเอาน้ำผึ้งให้เขากิน” แม้ว่าเขาจะมีเจตนาดี แต่คุณหมอก็ให้คำแนะนำที่ถูกต้องว่า ห้ามให้ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี รับประทานผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งเด็ดขาด เพราะในน้ำผึ้งอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึม เสี่ยงเสียชีวิตได้
เคสแบบนี้ที่ไทยก็มี
ซึ่งเคสลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในไทยเช่นกัน เมื่อปี 2566 หมอหมู นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยผู้ปกครอง โดยระบุข้อความว่า เด็กทารกวัย 2 เดือน เกือบเสียชีวิตภายหลังแม่ให้ทานน้ำผึ้ง เขาได้เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปอดติดเชื้อ หายใจลำบาก และมีอาการชัก
ทีมแพทย์ได้ส่งอุจจาระของเด็กชายไปตรวจและค้นพบ Clostridium botulinum ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สร้างสารพิษที่ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่ใช้ในโบท็อกซ์ โชคดีในกรณีนี้ทารกฟื้นตัวเต็มที่ หลังจากต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือน และได้รับการรักษาด้วยยาต้านพิษ
เด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ห้ามรับประทานน้ำผึ้ง เพราะในน้ำผึ้งอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism) โรคโบทูลิซึมเป็นภาวะที่เกิดจากสารพิษของเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งสามารถทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและอาจเสียชีวิตได้ ระบบทางเดินอาหารของทารกยังไม่สมบูรณ์ ความเป็นกรดในลำไส้ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อ Clostridium botulinum ได้ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้ได้มากกว่าผู้ใหญ่
อาการของโรคโบทูลิซึมในทารก ได้แก่ ท้องผูก อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบาก กลืนลำบาก ตาพร่ามัว ปากแห้ง เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หากทารกมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว