นักวิเคราะห์ฟันธงความรุนแรงในการเมืองไทยยังห่างไกลที่จะสิ้นสุด
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์การเมืองว่า ความรุนแรงทางการเมืองในไทยยังอีกยาวไกลกว่าจะสิ้นสุด ความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นตลอด 2 เดือน บนท้องถนนในกรุงเทพฯ เป็นเพียงปฐมบทของความรุนแรงทางการเมืองที่จะแพร่ขยายไปทั่วประเทศ เนื่องจากการประท้วงจะยกระดับเป็นการใช้อาวุธมากขึ้น
ผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่า แม้ประวัติศาสตร์ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารและความไม่สงบภายในมาแล้วหลายครั้ง แต่ขณะนี้เกิดความแตกแยกร้าวลึกระหว่างชนชั้นนำกับคนยากจน ในเมืองและชนบทมากกว่าแต่ก่อน เช่นเดียวกับการแสดงออกถึงความโกรธเคืองก็มีมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย
นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ความรุนแรงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองไทย เขาชี้ว่าอาคาร 35 แห่ง ที่ถูกเผาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงถึงระดับรากฐานของการเมืองไทย การสลายการชุมนุมเมื่อวานนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความขัดแย้ง แต่คือจุดเริ่มต้นของสงคราม ซึ่งแล้วแต่จะตีความว่าเป็นสงครามกลางเมือง หรือสงครามกองโจร
นายวิลเลียม เคส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของมหาวิทยาลัยซิตีในฮ่องกง กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงต่อจากนี้จะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ประท้วงได้เรียนรู้วิธีการจัดตั้ง มีความตระหนักรู้และมีความสามารถในการต้านอำนาจรัฐได้มากกว่าแต่ก่อน ซึ่งถ้ามีการปลุกระดมขึ้นมาอีกก็จะยากมากที่จะหยุดยั้ง
นายพอล แชมเบอร์ นักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก กล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงถูกกระตุ้นให้เข้าสู่กองทัพประชาชน เลียนแบบยุทธวิธีของกลุ่มเสื้อเหลืองที่เข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 และถ้ายังคงใช้วิธีความรุนแรงเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประชาชนก็จะเกิดความเคยชิน ม็อบต่อต้านจะกลายเป็นเรื่องปกติสลับฉากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยจะเป็นได้เพียงความฝัน