กรมศิลป์ฯ ทำจดหมายเหตุฉบับพิเศษเหตุจลาจลทางการเมือง
กรมศิลปากรทำจดหมายเหตุฉบับพิเศษครั้งแรก ที่จารึกเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม
นางสุรีรัตน์ วงศ์เสงี่ยม ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักหอจดหมายเหตุฯ ได้เตรียมการจัดประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตามจังหวัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการเสนอไปยังกรมศิลปากรให้ร่วมจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อการจัดทำเอกสารจดหมายเหตุฉบับพิเศษ แยกจากเอกสารจดหมายเหตุประจำปีทั่วไป เนื่องจากภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทย ทั้งนี้ขอบเขตการเก็บรวบรวมเหตุการณ์ความไม่สงบจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา
ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุฯ กล่าวอีกว่า รูปแบบการทำงานจะแบ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ และการรวบรวมข้อมูลจากสื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจากประชาชน โดยเฉพาะจะให้ความสำคัญกับข้อมูลที่จะได้รับจากการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในคณะกรรมการรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องภายใต้สังกัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้จะยึดถือเอกสารราชการจากทางกระทรวง กรมที่เกี่ยวข้องเป็นหลักในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลเหตุการณ์ แต่จะมีการประมวลข้อมูลรอบด้านจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ จากฝั่งผู้ชุมนุมเอาไว้ด้วย โดยจะไม่วิจารณ์ใด ๆ ขณะเดียวกัน ในการตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำบันทึกจดหมายเหตุฉบับพิเศษก็จะมีขั้นตอนการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนรอบด้าน
"การจัดทำเอกสารจดหมายเหตุฉบับพิเศษที่ผ่านมา จะใช้ในโอกาสที่มีงานสำคัญระดับชาติ อาทิ พิธีการเฉลิมฉลองครบรอบในวาระต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง เช่น สึนามิ เมื่อปี พ.ศ.2547 แต่ยังไม่เคยมีการจัดทำเอกสารจดหมายเหตุลักษณะเฉพาะกิจในความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองเช่นนี้มาก่อน"