อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย ทำไมอุณหภูมิ 38 องศา แต่รู้สึกเหมือน 49 ชี้อันตรายกว่าที่คิด

อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย ทำไมอุณหภูมิ 38 องศา แต่รู้สึกเหมือน 49 ชี้อันตรายกว่าที่คิด

อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย ทำไมอุณหภูมิ 38 องศา แต่รู้สึกเหมือน 49 ชี้อันตรายกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้แล้ว ทำไมอุณหภูมิ 38 องศา แต่รู้สึกร้อนจัดเหมือน 49 องศา แล้วจริง ๆ มันร้อนกี่องศา อ.เจษฎ์ ชี้ อันตรายกว่าที่คิด

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ไขข้อข้องใจกรณี "ทำไมอุณหภูมิ 38 องศา แต่รู้สึกร้อนจัดเหมือน 49 องศา" โดยระบุว่า

มีคำถามหลังไมค์ เกี่ยวกับหน้าร้อนนี้ อีกข้อครับ บอกว่า "รบกวนอาจารย์ ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมครับ ว่าอุณหภูมิ 38 แต่รู้สึกเหมือน 49 คืออะไรครับ แล้วจริง ๆ มันร้อนกี่องศาครับ ?"

จริง ๆ คือ อุณหภูมิของอากาศในวันนั้น จะอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส ครับ แต่ที่บอกว่า รู้สึกร้อนเหมือน 49 องศาเซลเซียส คือเอามาจากค่า "ดัชนีความร้อน" หรือ "heat index" ครับ

ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิที่ร่างกายคนเรา รู้สึกตามความสัมพันธ์กันระหว่าง "อุณหภูมิ และ ความชื้น"

พูดง่าย ๆ คือ การที่เรารู้สึกว่าอากาศขณะนั้น ร้อนหรือเย็น มันไม่ได้ตรงไปตรงมากับ "อุณหภูมิอากาศ" ที่แท้จริง ... แต่ต้องรวมไปถึง "ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ" ด้วย

ดังเช่น ถ้าบอกว่าอุณหภูมิวันนี้ 38 องศาเซลเซียส แต่มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 50 % เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า อยู่ในบริเวณอุณหภูมิถึง 49 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ถือร้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราแล้ว (ร่างกายคนเรา อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 37 องศาเซลเซียส)

แถมค่าดัชนีความร้อนนี้ ยังคำนวณโดยดูตอน "อยู่ในร่มเงา" นะครับ .. ถ้าเกิดไปเดินหรือตากแดดโดยตรง ค่าดัชนีความร้อนอาจเพิ่มขึ้นไปอีก สูงถึง 8 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว !

ดังนั้น เราควรที่จะพิจารณาถึงค่าดัชนีความร้อนในแต่ละวันด้วย (ไม่ใช่แค่ดูอุณหภูมิอากาศธรรมดา) และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรง จะมีผลกระทบต่อสุขภาพได้

ผลกระทบตามค่าดัชนีความร้อน

  • 27-32 องศาเซลเซียส : อ่อนล้า อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะได้ หากมีกิจกรรมการแจ้งอาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนได้
  • 32-41 องศาเซลเซียส : ตะคริว เพลียแดดหากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะลมแดด Heat Stroke
  • 41-54 องศาเซลเซียส : ปวดเกร็ง เพลียแดด หน้ามืด หากทำกิจกรรมต่อเนี่ยงเสี่ยงต่อสภาวะลดแดด Heat Stroke
  • 54 องศาเซลเซียสขึ้นไป : เกิดสภาวะลมแดด หรือ Heat Stroke ได้ตลอดเวลา และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

แถมว่า ค่าดัชนีความร้อนที่มากขึ้นขนาดนี้ ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องเปิดแอร์หรือพัดลม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อร่างกาย ส่งผลทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างแอร์ ต้องทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟฟ้าก็มากขึ้น เนื่องจากแอร์ต้องนำพาความร้อนภายในห้อง ออกสู่นอกห้อง ยิ่งความร้อนนอกห้อง สูงเท่าไรย่อมมีผลต่ออุณหภูมิภายในห้องไปด้วย แอร์ทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook