ย้อนดู “เดี่ยว โน้ส อุดม” สะท้อนสังคมอย่างไร?
เรียกได้ว่ากระแสดราม่า "เดี่ยว Super Soft Power ของโน้ส อุดม" ขณะนี้กำลังเป็นที่พูดถึงกันในโลกโซเชียลอย่างมาก หลัง Netflix ปล่อยไฮไลท์โชว์ออกมา ทำให้เป็นที่ถกเถียงกันว่าคำพูดของ โน้ส อุดม ที่พาดพิงที่ศิลปินแห่งชาตินั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นที่ต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นดราม่าๆ ร้อนๆ อีกหลายเรื่อง ที่หยิบเอามาล้อ มาเล่า จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
อย่างไรก็ตามมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากลองย้อนกลับไปดูเดี่ยว ไมโครโฟน ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงล่าสุด จะสังเกตได้ว่าในแต่ละตอนจะมีการสอดแทรกเทรนด์ วิถีชีวิต บริบทสังคมในแต่ละยุคไว้ ซึ่งเมื่อกลับไปดูทีไรก็อาจทำให้ใครหลายคนหวนคืนสู่ความทรงจำเดิม ๆ ที่เคยมีในอดีต วันนี้ Sanook เลยชวนมาดูอีกแง่มุมของเดี่ยวที่มีมากกว่าดราม่า
รู้จัก “โน้ส อุดม” และ “เดี่ยว ไมโครโฟน”
การ “เดี่ยว ไมโครโฟน” หรือ “Stand-Up Comedy เป็นลักษณะการเล่าเรื่องให้คนจำนวนมากฟัง โดยจะใช้มุกตลกในการพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ทั้งการเมือง เรื่องเพศ ชนชาติ รวมไปถึงเรื่องในชีวิตประจำวัน
ซึ่งในประเทศไทย อุดม แต้พานิช หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โน้ส อุดม” เป็นนักพูดที่ถือว่าประสบความสำเร็จและได้ความนิยมในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน ด้วยความที่เขามีความตลกขบขัน โดยได้เริ่มการแสดงครั้งแรกในปี 2538 และได้รับกระแสที่ดีอย่างล้นหลาม จนได้มีการทำโชว์มาถึง 29 ปีแล้ว
เดี่ยว ไมโครโฟน กับมุกตลกสะท้อนเหตุการณ์ในสังคม
มาดูบางช่วงบางตอนของเดี่ยวที่สะท้อนให้เห็นเทรนด์ในแต่ละสมัย พาทุกคนย้อนไปในสมัยวัยรุ่น มีเทรนด์ไหนที่เพื่อนๆ ทุกคนทันกันบ้างน้า
เดี่ยว ไมโครโฟน 1 (ปี 2538)
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมหกรรมซีรีย์ เดี่ยว ไมโครโฟน จัดแสดงในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งมีการเล่าเรื่องตลกเสียดสีเรื่องใน “วงการบันเทิง” โดยอธิบายว่า อาชีพนักร้อง หรือนักแสดง เป็นอาชีพที่วัยรุ่นสมัยนั้นอยากจะเป็น หากอยากเป็นดาราก็ต้องไปเดินสยามให้เจอแมวมอง ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่มีวิธีการเลือกนักแสดงผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่า
“หนุ่มสาวนักศึกษาที่อยากเข้าวงการบันเทิงเนี่ย มีสูงมากจนน่าใจหาย ฉะนั้นอัตราแมวจะไม่เพียงพอ ที่จะไปมองได้ทั่วถึง ฉะนั้นจึงเกินวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา คือวัฒนธรรมของการไปมองแมวแทน โดยหาแหล่งที่แมวจะอยู่ คุณพจน์อานนท์อยู่ที่ไหน หนุ่มสาวก็จะกรูไปแถวนั้น สมมติคุณพนจ์ อานนท์ไปสยามเซนเตอร์ วันนั้นหนุ่มสาวก๋ากั๋นก็จะเดินกันว่อนให้หมด”
เดี่ยว ไมโครโฟน 2: อุดม โชว์ห่วย (ปี 2539)
แสดงในปี พ.ศ. 2539 มีการพูดถึงการร้องเพลง ว่าคนไทยสนใจท่าทางของนักร้องเป็นพิเศษมากกว่าเสียงร้อง โดยท่าทางประกอบการร้องเพลง ต้องไม่ขัดกับคำพูด โน้ส อุดม ได้ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่ถ้าร้อง “อย่า ๆ เลย” ก็คงทำท่าเหยียดมือไปข้างหน้า เหมือนต้องการให้หยุด คงไม่มีใครร้อง “อย่า ๆ เลย” โดยการเต้นแล้วสั่นขาไปเรื่อยหรอก
เดี่ยว ไมโครโฟน 3: อุดม การช่าง (ปี 2540)
ครั้งนี้โน้ส อุดม ได้หยิบยกเพลงไทยที่กำลังเป็นกระแสในช่วง 2540 อย่างเพลง “ดูมั้ย ของศิลปินลิฟท์ออย” โดยหยิบยกประเด็นว่า เพลงไทยมักมีเนื้อร้องวนไปวนมา ฟังง่าย แต่มีแอบแซวเบาๆ ว่า เพลงร้องแค่ “ดูไม่ดู ดูไม่ดู ดูไม่เสียตังค์ แต่เอาเงินไป 70 บาทแล้ว” ซึ่งก็เรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมอย่างมาก
เดี่ยว ไมโครโฟน 4 (ปี 2542)
มาถึง พ.ศ. 2542 มีการเอยแซวเจ้าตู้สติ๊กเกอร์ที่จะมีเสียงโฆษณาที่พูดโทนไร้อารมณ์ออกมาจากตู้ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ที่แอบฮาของตู้ถ่ายรูปสมัยนั้นเลย
“ตู้ญี่ปุ่นจะได้อารมณ์มากกว่าตู้ไทย เคยถ่ายตู้ที่มีเสียงเป็นภาษาไทยไหม ขอบอกนะครับ นะครับ ขอบอก เสียอารมณ์สุดๆ ครับ ตู้สติ๊กเกอร์ของเรา ติดตู้เย็นก็ได้ด้วย ติดกระเป๋าก็ได้ด้วย จะติดตรงไหนคนดูก็คิดเองได้ เสียงเหมือนครูภาษาไทย โอโห้เซ็ง”
เดี่ยว ไมโครโฟน 6: ตูดหมึก (ปี 2546)
ใครทันสายด่วน 1900 น่าจะไม่เด็กแล้วนะ! แต่สำหรับใครที่ไม่รู้จัก เบอร์โทร 1900 ในสมัยก่อนเป็นเบอร์สายด่วนที่รวมบริการต่างๆ มากมาย ทั้งดูดวง เล่นเกม ชิงโชคในเบอร์เดียว ซึ่งในเดี่ยวครั้งนี้โน้ส อุดม ได้เล่าถึงประสบการณ์ตรงที่ทุกคนต้องเคยเจอ คือ กว่าจะกดดูดวงได้แต่ละทีต้องกดเลขนู้นเลขนี้จนงงไปหมด เรียกได้ว่าชวนหัวเราะกันทั้งฮอลล์เลย
“วันนั้นนั่งอยู่บ้าน เหงาๆ น่ะ เหงาๆ ไม่รู้จะทำอะไร เอาวะ ดูทีวีมันบอกมีเลขกด 1900 อะไรไม่รู้ ซัดเลย กดปุ้งไป โอ้แม่เจ้า กว่าจะติดต่อได้ สวัสดีค่ะ นี่คือเทพธิดาพยากรณ์ โดยคุณรจนานะคะ หากท่านต้องการ ทำนายไพ่ด้วยระบบไพ่ยิบซี กดสี่ หากท่านต้องการทายด้วยระบบแก้วคริสตัล กดห้า หากท่าต้องการทาย บลาๆ กดเจ็ด กดแปด กดเก้า ต้องรอฟังมันจนจบกว่าจะไปได้”
เดี่ยว ไมโครโฟน 9: สนุก สันติ อหิงสา (ปี 2554)
มีการเล่าถึงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในปี 2554 ไม่ว่าประเด็นร้อนทางการเมืองที่ช่วงนั้นมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ ประเด็นทางเทคโนโลยี ที่ช่วงนั้นเพิ่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ตแบบ3G ซึ่งเล่าผ่านกลอนตลกขบขันเสียดสีความจริงของสังคมที่คนไทยต้องเจอ
“ส่วนสามจี รอไม่นาน สามรัฐบาล น่าจะเสร็จ ไอโฟนเจ็ด คงออกแล้ว แต่ไม่แคล้ว ช้ากว่าลาว นาวสาวไทย เริ่มขัดตา สวยงามกว่า อยู่มอเตอร์โชว์ สวยไฮโซอยู่พารากอน สวยเงินผ่อน อยู่แพลทินัม สวยคล้ำอยู่หน้าราม สวยพยายามอยู่ยันฮี”
เดี่ยว ไมโครโฟนครั้งที่ 10 (ปี 2556)
ในครั้งนี้โน้ส อุดม ได้มีการแต่งแร็พหยอกล้อพฤติกรรมคนไทยชอบเห่ออะไรเป็นช่วงๆ โดยผ่านการหยิบยกตุ๊กตาขนสุดฮิตในปี 2556 อย่างเจ้าเฟอร์บี้มา
“นิสัยบ้าเห่อของใหม่ ไม่มีใครเกินไทยในแล้วโลกนี้ ล่าสุดปีศาจบวกหนู มีขนฟู มันคือเฟอร์บี้ เล่นกันตั้งแต่ดารานางแบบ นักร้อง นักแร็ป ยันเซเลบริตี้ เฟอร์บี้ก็เลยฟีเวอร์ ราคาแพงเว่อ ขายดิบขายดี ยอมกินมาม่าทั้งเดือน เพื่อจะได้บอกเพื่อนว่ากูก็มี ไปไหนก็ได้ยินแต่เสียงร้อง ถามหน่อยพี่น้องไม่รำคาญเหรอพี”
“กับพ่อแม่ไม่เคยป้อนข้าวสักคำ แต่เฟอร์บี้ตาดำ ๆ ป้อนทุกห้านาที กับพ่อแม่บอกคุยคนละภาษา แต่กับอีเฟอร์บ้าคุยเข้าใจกันดี กับพ่อแม่ไม่เคยพาไปไหน แต่เฟอร์บี้ พาไปทุกที่ หมอดมยืนยันฟันเฟิร์มความฮิตจะหมดเทอมไม่เกินสิ้นเดือนนี้ ไม่เชื่อหันไปมองน้องบลายธ์ ที่มันนอนเหงาตายอยู่ในตู้ดูสิ”
เดี่ยว ไมโครโฟน 12: Note Udom No.12 (ปี 2561)
เรียกได้ว่าเป็นข่าวเด่นข่าวดังปี 2561 กับข่าวครูปรีชาอ้างว่าตนเป็นเจ้าของหวย 300 บาท ซึ่งเป็นที่ติดตามกันในโซเชียลอย่างมากว่าหวยนั้นเป็นของครูปรีชาจริงหรือไม่ นอกจากนี้ในปีนั้นยังมีข่าวเด็กๆ หมูป่า 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง เป็นเวลากว่า 18 วัน ซึ่งชาวโซเชียลก็แห่ให้กำลังใจและลุ้นว่าจะสามารถพาเด็กๆ ออกมาได้หรือไม่ ซึ่งเดี่ยวในครั้งนี้โน้ส อุดมก็ไม่พลาดที่จะหยิบยกข่าวทั้ง 2 มาแต่งเป็นเพลงอีกเช่นเคย
“ผลงานโดดเด่นของกระทรวงศึกษา ยกให้ครูปรีชาสร้างแรงบันดาลใจ นี่มันหวยของครู หมวดจรูญนั้นไม่ใช่ ถ้าตอแหลได้ขนาดนั้น เพราะความจริงมันพูดยากมากกว่าแถไถ ไม่ต้องห่วงครูยังมีผมข้าง แต่นี่ผมตรงกลางของครูนั้นมันหายไปหายไหน”
“เรื่องหมูป่านี้เป็นปรากฎการณ์ ทั่วทั้งจักรวาลอยากให้ปลอดภัย ทุกสีรวมกันเป็นหนึ่ง แต่ว่ามีสีหนึ่งที่ไม่เข้ากับใคร”
เดี่ยวสเปเชียล ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์
เป็นเดี่ยวตอนล่าสุด ที่เพิ่งเข้าฉายในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังอย่าง “Netflix” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในช่วงปีที่ผ่านมามีการเปรียบเทียบระหว่างเจนเนอเรชั่นต่างๆ ค่อนข้างเยอะ โน้ส อุดม จึงได้มีการหยิบยกประเด็นคนรุ่นใหม่รุ่นเก่ามาพูด รวมไปถึงการตั้งชื่อตอนด้วยคำที่ติดปากคนสมัยนี้ อย่างคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์”
สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนได้นั่งไทม์แมทชีน หวนคืนความทรงจำเก่า และได้เห็นอีกแง่มุมของเดี่ยว ไมโครโฟนนะคะ