อ.เจษฎ์ ร้องหือออ โพสต์ข้อมูลนี้หลัง "ภูมิธรรม" บอกสารมะเร็งในข้าวเก่า "ขัด" ออกได้
หือออ? "ภูมิธรรม" โพสต์บอก สารก่อมะเร็งในข้าวเก่า "ขัด" ออกได้ นักวิชาการยังบอกฟังแล้วทะแม่งๆ อยู่นะ...
ประเด็นต่อเนื่อง กรณีข้าว 10 ปีจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2556/57 ล่าสุดเมื่อวานนี้ (13 พ.ค.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Phumtham Wechayachai โดยเปิดหัวเรื่องว่า ใช้ข้อมูลและความรู้วิจารณ์ “ข้าว 10 ปี” เพื่อประโยชน์ของประเทศ ดีกว่าใช้จินตนาการนำความจริง จากรายงานข่าวที่ มีผู้กล่าวอ้างว่า ได้ทำการตรวจสอบข้าวสารในโกดังโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะนำออกประมูลขายและอ้างว่าตรวจพบ สารก่อมะเร็ง
และมีใจความตอนหนึ่งที่ระบุว่า ในปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น จึงทำให้กระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าวก่อนทำการนำออกจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือ ต่างประเทศ แต่ละครั้ง จะมีการนำข้าวไปขัดสี ปรับปรุงเมล็ดข้าว จนเข้าเกณฑ์ food safety ตามมาตรฐานสากลเสียก่อน จึงสามารถทำการส่งออกหรือกระจายสู่ผู้บริโภคได้
กรณี “สารก่อมะเร็ง” ที่มีการอ้างถึงนี้ส่วนใหญ่จะพบในรำข้าวที่เกาะอยู่ในเมล็ดข้าวโดยยังไม่ได้มีการปรับปรุง หากมีการปรับปรุงเเละขัดสีแล้ว สารตัวนี้จะมีปริมาณลดลงกว่านี้มาก จนอยู่ในปริมาณที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
- อ.เจษฎ์ โพสต์แสดงความเห็นทันที อ่านแล้วร้องหือออ ทะแม่งๆ
ต่อมา ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวลงในเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant พูดถึงประเด็นข้างต้นโดยบอกว่า เท่าที่ทราบเนี่ย พวกสารอะฟลาทอกซินและสารพิษอื่นๆ จากเชื้อรา มันสะสมอยู่ได้ในเนื้อของข้าวสาร (และธัญพืชอื่นๆ ) ตามการเจริญเติบโตของเชื้อรา ที่แทรกเข้าไปในเนื้อข้าวนั้นได้ ไม่ใช่ว่ารามันจะโตอยู่แต่ที่ผิวข้าว (และมีสารพิษอยู่แค่ที่ผิว) เท่านั้น
ดังนั้น การขัดสี ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่การันตีว่า จะสามารถกำจัดสารพิษออกไปได้จนปลอดภัยได้นี่ครับ ?
และกรณีของข้าวกล้อง - ข้าวสาร คือ มันก็จริงที่พบว่า เชื้อราและสารพิษจะพบในข้าวกล้องได้สูงมากกว่าในข้าวสาร เพราะมีส่วนของรำข้าว ที่มีสารอาหารในการเจริญเติบโตของเชื้อรามากกว่า... แต่เชื้อราก็เติบโตในข้าวสารได้เช่นกันครับ ขึ้นอยู่กับสภาพในการเก็บรักษา ถ้ามีความชื้น มีอุณหภูมิไม่เหมาะสม เชื้อราก็ขึ้นที่ข้าวสารได้ (ยิ่งเก็บมายาวนานเป็นสิบปีด้วย)
ซึ่งวิธีพิสูจน์ที่ดีที่สุด ก็คือ ต้องสุ่มตัวอย่างเข้าห้องปฏิบัติการครับ ว่ามีปริมาณสารอะฟลาทอกซิน (และสารพิษอื่นๆ ) ปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหน เกินมาตรฐานหรือไม่ ถ้าเกิน ก็ไม่ต้องฝืนขายเอาไปบริโภคครับ เอาเป็นว่า รอฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทีนะครับ แต่ผมว่ามันฟังทะแม่งๆ อยู่น้าา
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ