เปิดข้อความสื่อระดับโลก มอง "รัฐบาลไทย" ต่อการเสียชีวิตของ "บุ้ง" นักเคลื่อนไหววัย 28

เปิดข้อความสื่อระดับโลก มอง "รัฐบาลไทย" ต่อการเสียชีวิตของ "บุ้ง" นักเคลื่อนไหววัย 28

เปิดข้อความสื่อระดับโลก มอง "รัฐบาลไทย" ต่อการเสียชีวิตของ "บุ้ง" นักเคลื่อนไหววัย 28
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สื่อต่างชาติรายงาน กรณีการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง’ นักเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบัน

เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวในสถานจองจำ หลังอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 110 วันเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของนักโทษการเมือง

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เนติพรเป็นนักโทษการเมืองในไทยรายแรกที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง และเป็นรายที่สองที่เสียชีวิตขณะถูกจองจำด้วยคดี ม.112 ต่อจาก อำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" ที่เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555

เนติพรมีอายุ 28 ปีในวันที่เสียชีวิต

ม.112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี ต่อผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และที่ผ่านมา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ตั้งคำถามถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการตีความอย่างกว้างขวาง

แถลงการณ์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในเช้าวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่าได้รับตัวเนติพรจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังมีอาการหมดสติและไม่มีสัญญาณชีพตั้งแต่ช่วงเช้ามืด และมีการช่วยฟื้นคืนชีพมาตั้งแต่ขณะนั้น แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมอย่างสงบในเวลา 11.22 น. วันเดียวกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ให้ความช่วยเหลือกระบวนการทางคดีแก่ผู้แสดงออกทางการเมือง รายงานว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะทำการชันสูตรพลิกศพในวันต่อไปตามกระบวนการของการเสียชีวิตระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน

เนติพรเป็นนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนหน้านี้เคยร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลวเพื่อเรียกร้องในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาในช่วงที่มีกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2563 ในไทย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เนติพรถูกคุมขังจากการถูกศาลเพิกถอนสิทธิการประกันตัวในเดือนมกราคม 2567 จากกรณีที่เธอและสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ทำกิจกรรมโพลสำรวจความเห็นประชาชนด้วยคำถามว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่” เมื่อปี 2565 ซึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ม.112) ในเวลาต่อมา

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า สมาชิกของกลุ่มทะลุวังสองคนถูกคุมขังขณะพิจารณาคดีและเริ่มอดอาหารมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ อีกสองคนลี้ภัยออกนอกประเทศ และรอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นจากสมาชิกกลุ่มคนอื่น ๆ ได้

สื่อเดอะนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า การเสียชีวิตของเนติพรอาจเป็นความท้าทายให้กับรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ที่มีท่าทีนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอาญามาตรา 112

ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แสดงความเสียใจต่อการจากไปของเนติพรและจะมีการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป โดยได้รายงานเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินทราบแล้ว ซึ่งได้รับคำสั่งมาว่า ต้องทำทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของเนติพร โดยระบุว่าเหตุการณ์นี้ “เป็นเครื่องเตือนใจว่า ทางการไทยกำลังปฏิเสธสิทธิของนักกิจกรรมในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และได้ใช้การควบคุมตัวเพื่อปิดปากการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ”

สื่อไทม์ (TIME) ของสหรัฐฯ รายงานการเสียชีวิตครั้งนี้ว่า เกิดในช่วงเวลาที่มีผู้ชุมนุมอีกหลายคนที่อดอาหารประท้วงขณะถูกคุมขังเช่นกัน

ส่วน สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวกับไทม์ว่า “10 เดือนหลังเศรษฐา (นายกฯ คนปัจจุบัน) ขึ้นสู่ตำแหน่ง ประเทศไทยยังคงมีการกดขี่เหมือนสมัยที่อยู่ใต้การปกครองของทหาร” และเป็นเรื่องเศร้าที่รัฐบาลและฝ่ายตุลาการเลือกที่จะไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเธอ

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,954 คน โดยมีอย่างน้อย 272 คน ถูกกล่าวหาด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีผู้ถูกจองจำจากคดีการเมืองอย่างน้อย 43 คน ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567

ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เอพี, รอยเตอร์, ไทม์, เดอะนิวยอร์กไทม์ส

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ เปิดข้อความสื่อระดับโลก มอง "รัฐบาลไทย" ต่อการเสียชีวิตของ "บุ้ง" นักเคลื่อนไหววัย 28

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook