รู้จักพระเกศโมลี "เปลวรัศมี" ปริศนาแห่งเชียงแสน ร้อยกว่าปียังหาองค์พระพุทธรูปไม่พบ
Thailand Web Stat

รู้จักพระเกศโมลี "เปลวรัศมี" ปริศนาแห่งเชียงแสน ร้อยกว่าปียังหาองค์พระพุทธรูปไม่พบ

รู้จักพระเกศโมลี "เปลวรัศมี" ปริศนาแห่งเชียงแสน ร้อยกว่าปียังหาองค์พระพุทธรูปไม่พบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การขุดค้นพบพระพุทธรูปในแม่น้ำโขง ถูกโยงกับ "เปลวรัศมี" ในพิพิธภัณฑ์เชียงแสน ปริศนาพระเจ้าล้านตื้อ นับร้อยปีที่ยังหาองค์พระไม่พบ

จากกรณีเมื่อ 16 พ.ค.2567 ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว มีการขุดการค้นทางโบราณคดี พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเป็นพระประธานวัดสำคัญที่ถูกแม่น้ำโขงพัดหายไปในแม่น้ำโขง 

นายสุพรรณ ทะสัน นายช่างโยธา โครงการอนุรักษ์และบูรณะเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน เปิดเผยว่า พระพุทธรูปที่มีการขุดค้นวันนี้ เมื่อดูจากศิลปะและขนาดหน้าตักกว้าง 1.2-2 เมตร และสูงราว 3 เมตร น่าจะเป็นพระประธานของวัดสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบจากศิลปะน่าจะมีอายุราว 500-600 ปี โดยพระประธาน ฐานชุกชี และแท่นพระประธาน ก็มีความคลายคลึงกับพระประธานวัดหลายแห่ง เช่น วัดมุงเมือง วัดลานตอง วัดปงสนุก ใน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ซึ่งการค้นพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสการพูดถึง พระเกศโมลี หรือ พระรัศมีอันเชื่อว่าเป็นของพระเจ้าล้านตื้อ พระพุทธรูปในตำนานเชียงแสน มีลักษณะเป็นเปลวรังสีโดยรอบ 9 แฉก ซึ่งเป็นส่วนสูงสุดบนเศียรพระพุทธรูป โดยหลายคนคาดหวังว่า พระพุทธรูปที่ค้นพบอาจจะเป็นพระเจ้าล้านตื้อที่หายไป และสามารถสวมพระเกศโมลีได้พอดี 

เรื่องเล่าพระเจ้าล้านตื้อจมอยู่ใต้น้ำ

ตื้อ คือมาตราวัดของชาวล้านนา หมายถึงโกฏิ ดังนั้นคำว่า "ล้านตื้อ" ก็หมายถึงองค์พระนี้มีขนาดและน้ำหนักมาก ชื่อนี้ไม่มีในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ถูกเรียกต่อๆ กันมาในภายหลังจากลักษณะและคำบอกเล่า สันนิษฐานว่าองค์พระคงจมลงไปพร้อมกับเกาะดอนแท่น ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณน้ำโขงหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน

จากการสอบถามชาวเชียงแสนคนเก่าคนแก่ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ยังคงคลุมเครือ ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆ เล่าว่า เมื่อราวปี พ.ศ. 2479 เมื่อพรานหาปลาผู้หนึ่งพร้อมกับปู่ของเขาออกไปทอดแหหาปลาบริเวณกลางแม่น้ำโขง ซึ่งใกล้กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน ได้เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมากลางน้ำ ซึ่งเขาจำได้ว่าไม่มีพระรัศมีบนพระเกตุมาลาและเห็นส่วนพระเศียรเพียงถึงแค่พระหนุ (คาง) พระพุทธรูปดังกล่าวหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ

อีกเรื่องเล่าบอกว่า พ.ศ.2489-2490 มีพรานล่าปลาผู้หนึ่งไปทอดอวนหาปลาบริเวณเกาะกลางหน้าเมืองเชียงแสนเผอิญอวนไปติดสิ่งของในน้ำ จึงดำลงไปเพื่อปลดออก ก็พบว่าอวนได้ไปติดปลายพระกรรณของพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่ เพราะลองยืนตรงบริเวณเหนือพระอังสาแล้วยกมือขึ้นตั้งตรง ก็ยังไม่สามารถจับถึงปลายพระกรรณได้ เมื่อลองลูบคลำดูก็มีลักษณะลื่นๆ 

พระรัศมีเกศโมลี ไม่ได้อยู่ในน้ำ

เปลวรัศมี ที่เชื่อกันว่าเป็นพระรัศมีของพระเจ้าล้านตื้อ (หรือพระเจ้าทองทิพ) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน มีความกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร มีเดือยสำหรับเสียบลงบนเศียรพระพุทธรูป ส่วนองค์พระรัศมีมีร่องรอยรูปวงกลมสำหรับฝังหินมีค่า จัดเป็นศิลปะล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สันนิษฐานว่าส่วนองค์พระพุทธรูปก็อาจมีการตกแต่งด้วยหินมีค่าเช่นเดียวกับพระรัศมี หล่อด้วยสำริด ภายในกลวง ทำเป็นรูปเปลวไฟ มีกลีบบัวรองรับ

Advertisement

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของพระรัศมีเกศโมลีชิ้นนี้ อยู่ในภาพถ่ายที่วัดงามเมือง (ปัจจุบันเพี้ยนเป็นวัดงำเมือง) ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ถูกกองรวมไว้กับพระพุทธรูปสำริดซึ่งถูกขนย้ายมาจากที่ใดไม่มีหลักฐาน แต่กำลังจะถูกลำเลียงไปไว้ที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ได้ระบุปี แต่คาดว่าถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2443 หรือก่อนหน้านั้น เนื่องจากพระพุทธรูปในภาพถูกอัญเชิญโดยทางเรือ มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 1 กรกฎาคม 2443

พระเกศโมลีไม่ได้ถูกนำไปกรุงเทพฯ ด้วย โดย ประมาณปี พ.ศ.2476 พระพุทธิสารเวที (แฮด เทววํโส) ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดมุงเมือง จังหวัดเชียงราย ต่อมาจึงมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน ประมาณปี พ.ศ. 2500

 

พระเกศโมลีใหญ่ขนาดนี้ องค์พระจะใหญ่ขนาดไหน

จากการเปรียบเทียบสัดส่วนของพระรัศมีกับพระพุทธรูปศิลปะล้านนาองค์อื่นๆ ประมาณความกว้างของหน้าตักได้ 8.5 เมตร และความสูง 10 เมตร แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เคยมีใครเห็นพระพุทธรูปทั้งองค์ หากพระพุทธรูปองค์นี้มีจริงก็จะเป็นพระพุทธรูปที่ยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดในเมืองเชียงแสน

จากกระแสค้นพบพระพุทธรูปที่เมืองต้นผึ้งล่าสุด หลายคนจึงมองว่าน่าจะยังไม่ใช่พระเจ้าล้านตื้อ หรือพระพุทรูปองค์ที่สวมพระรัศมีชิ้นนี้ได้พอดี เนื่องจากองค์ที่เพิ่งขุดพบมีความกว้างหน้าตักประมาณ 2 เมตรเท่านั้น เมื่อเทียบแล้วจึงดูเล็กเกินไปสำหรับพระรัศมีที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปที่ถูกขุดค้นพบล่าสุด ยังต้องมีการตรวจสอบ เปรียบเทียบข้อมูล และศึกษาประวัติความเป็นมา ยุคสมัย รวมถึงอายุที่แท้จริง และจนถึงขณะนี้พระเจ้าล้านตื้อก็ยังคงเป็นตำนานปริศนาที่ยังหาองค์พระไม่พบต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้