ไม่ควรจะเป็นของใหม่ กรกิจ ชี้จุดสังเกตพระพุทธรูปใต้น้ำโขง ฝีมือช่างพิสดารเกินปัจจุบัน

ไม่ควรจะเป็นของใหม่ กรกิจ ชี้จุดสังเกตพระพุทธรูปใต้น้ำโขง ฝีมือช่างพิสดารเกินปัจจุบัน

ไม่ควรจะเป็นของใหม่ กรกิจ ชี้จุดสังเกตพระพุทธรูปใต้น้ำโขง ฝีมือช่างพิสดารเกินปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรกิจ ดิษฐาน นักเขียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก เห็นต่างปมพระพุทธรูปกลางแม่น้ำโขง ชี้ฝีมือช่างพิสดารเกินฝีมือช่างปัจจุบัน

จากกรณีเมื่อช่วงเช้า วันที่ 16 พ.ค. เวลา 10.20 น. ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว มีการขุดการค้นทางโบราณคดี พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขงฝังอยู่ในทราย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบในบริเวณนี้

ต่อมา นายพยุงศักดิ์ อัครเกื้อกูล หรือ อาจารย์ต๋อง หรือ ฉายา ครูบาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยา  ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ชี้ โลหะจมดิน จมน้ำไม่ถึง 100 ปี มันจะยุ่ย ผุ กร่อน ทะลุจนพรุน ไม่มีเหลือเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์แบบอย่างที่ขุดเจอนั่นหรอก ฟันธงเก่าไม่เกิน 50 ปี

เฟซบุ๊ก Kornkit Disthan หรือ กรกิจ ดิษฐาน นักเขียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก ออกมาให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ไม่ได้เขียนซะนานเลย กะว่าจะเขียนตั้งแต่เขาเจอพระที่เมืองต้นผึ้งใหม่ ๆ ก็ยังไม่มีเวลา ตอนนี้เจอ “พระเจ้าตนหลวง” ขนาดใหญ่โตขุดได้จากริมโขง ใบหน้าทรวดทรงงามเสียจนผมว้าวในใจ

แต่เกิดวิวาทะเรื่อง “พระเก่าพระใหม่” ขึ้นมา บางคนก็ว่า “หน้าจีน” (เพราะคิดว่าจีนมีส่วนเนื่องจากแถวนั้นมี “นิคมจีน” อยู่ไม่ไกล)

ก่อนอื่นพระองค์ล่าสุดที่เจอนั้นหน้าไม่จีนหรอกครับ ถ้าคุ้นพุทธศิลป์ลาวก็จะรู้ว่าคล้ายไปทางพระลาว แต่บางท่านก็ว่าผสมเชียงแสน ซึ่งแม้ว่าผมไม่ถนัดจะฟันธงเรื่องนี้ แต่โดย “ความรู้สึกส่วนตัว” คิดว่าออกไปทางพุทธศิลป์ลาว

ส่วนพระเก่าพระใหม่ตอนแรกผมก็เอะใจ เพราะกะด้วยสายตาตอนแรกสงสัยว่าทำไมองค์ใหญ่ขนาดนี้ถึงได้หล่อได้ตลอดองค์ ซึ่งต่างไปจากพระโบราณที่จะหล่อแยกเป็นชิ้น ๆ แล้วต่อเป็นองค์ด้วยลิ่มบ้างหรือด้วยหมุดบ้าง

แต่ต่อมาได้เห็นชัด ๆ ว่าพระที่เพิ่งขุดเจอนั้นเต็มไปด้วยรอยต่อและลิ่ม ผมจึงเชื่อว่า “นี่ทำใหม่ยากแล้ว” อีกทั้งพุทธศิลป์ขององค์นี้งามหมดจดมาก ทั้งฐานพระก็พิสดารเกินฝีมือช่างปัจจุบัน ผมจึงเชื่อว่า “ไม่ควรจะเป็นของใหม่”

เห็นแล้วผมนึกถึงพระโบราณที่ผมไปไหว้อยู่บ่อย ๆ คือ “หลวงพ่อพระร่วงทองคำ” พระสมัยสุโขทัย ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เดิมท่านอยู่ศรีสัชนาลัย แต่ชลอมาไว้เมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3

หลวงพ่อท่านขนาดน่าจะเท่ากับหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้ง ใหญ่เล็กกว่ากันไม่เกินศอก แต่ท่านหล่อจากทองคำเปล่งปลั่ง 60% หลังจากที่ทางวัดเคลียร์พระวิหารอยู่หลายปีก่อน ผมค่อยเข้าไปดูหลังองค์ได้ จึงเห็นกับตาว่า องค์พระมีรอยต่อทั้งองค์ ที่ไหล่นั้นมีหมุดตอกไว้ รวมแล้ว 9 จุดรอยต่อ

ผมถ่ายภาพแล้วอธิบายไว้อย่างที่เห็นแหละครับ แต่นี่แค่ครึ่งองค์ รอยต่อกลางบั้นเอวนั้นยาวรอบเหมือนองค์ที่พบที่ต้นผึ้ง เพียงแต่ที่ต้นผึ้งต่อด้วยลิ่ม ที่กรุงเทพฯ ต่อด้วยหมุด

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้งพระไม่ผุ อันนี้ตอบยากเพราะไม่ถนัดโลหะวิทยา แต่ในโลกเรามีการพบประติมากรรมโลหะที่จมน้ำแล้วยังอยู่ดีไม่บุบสลายอยู่มากมาย แม้แต่ในไทยก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

ผมว่าผมจะไม่กล้าฟันธงอะไร เพราะยังไม่เห็นกับตา และยังไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การค้นพบนี้มีน้ำหนักคือการพบ “เสาวิหาร” ที่มีลายปูนปั้นแบบล้านนาโบราณ

ก่อนที่จะพบเสานั้น มีการพบพระล็อตแรก ๆ ที่พบริมโขง ตอนแรกผมก็สงสัยว่า “คนในวงการปลอมพระเล่นตลกอะไรอีกหรือเปล่า?” แต่พอเห็นเสาต้นนั้นกับพระธาตุเจดีย์ที่มีแผ่นจังโก (ทองแดงหุ้มพระธาตุ) ผมก็หมดสงสัย

อีกเรื่องที่น่าวิเคราะห์ก็คือ จุดที่พบนั้นคือจุดไหนในประวัติศาสตร์?

บางคนบอกว่า “นั่นคือดอนแท่น” สถานที่ตั้งวัดวาอารามสำคัญสมัยเชียงแสน รวมถึงที่ตั้งของพระล้านตื้อ (ที่พบแต่พระเมาลีอันใหญ่โต และบางคนเริ่มโยงว่าพระใหญ่ที่ต้นผึ้งจะเป็นพระเจ้าล้านตื้อหรือเปล่า?)

แต่ที่ตั้งของดอนแท่นนั้นเป็นปริศนา แม้แต่คนท้องถิ่นก็ยังตกลงกันไม่ได้ นักวิชาการที่เขียนเรื่องพระเจ้าล้านตื้อยังได้แค่สันนิษฐาน

ผมคนนอกพื้นที่จึงได้แต่ฟังเขาวิเคราะห์ ไม่สามารถสู่รู้เกินผู้รู้ได้ แต่ก็ได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่อง “ดอนแท่น ปริศนาที่เชียงแสน” โดย ฉัตรลดา สินธสอน ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน (วารสารศิลปากร ปีที่ 57 ฉบับที่5) งานวิจัยนี้ไล่เรียงประวัติศาสตร์และการสันนิษฐานที่ตั้งของเกาะดอนแท่นได้รัดกุมดีมาก

ที่ดีมากอีกอย่างคือมีภาพแผนที่เก่าประกอบให้เห็นด้วยว่า เกาะดอนแท่นนั้นเคยอยู่กลางแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับ สภอ.เชียงแสน แต่ตอนนี้หายไปแล้ว บางครั้งเรียกว่า “เกาะดอนแห้ง” ส่วนจุดที่พบพระพุทธรูปที่ฝั่งต้นผึ้ง ผมกะดูแล้วควรจะเป็น “หาดเกาะหลวง” ในแผนที่นี้เป็นแค่หาดทราย ตอนนี้กลายเป็นเกาะจริง ๆ ไปแล้ว

บางทีพระต่าง ๆ และพระวิหารเจดีย์ที่ขุดเจออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเกาะดอนแท่นก็ได้ แล้วกระแสน้ำพัดไปตกที่ฝั่งหาดเกาะหลวงที่แต่ก่อนอยู่ประชิดกันช่วยกันวิเคราะห์ครับ เพราะผมก็ไม่รู้

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ไม่ควรจะเป็นของใหม่ กรกิจ ชี้จุดสังเกตพระพุทธรูปใต้น้ำโขง ฝีมือช่างพิสดารเกินปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook