รู้จัก “Golden Boy” โบราณวัตถุล้ำค่า ที่ไทยได้คืนจากสหรัฐ
เป็นที่พูดถึงตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ที่จะส่งคืนโบราณวัตถุให้แก่ประเทศไทย นั่นคือ ประติมากรรม Golden Boy (โกลเด้น บอย)
ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ค.67) ได้มีการรายงานว่า ประติมากรรม Golden Boy ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเปิดให้ประชาชนเข้าชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันที่ 22 พ.ค. นี้
ซึ่งหลายคนเอง ก็อาจไม่ทราบว่าประติมากรรม “Golden Boy” คืออะไร เป็นรูปหล่อของใคร ทำไมถึงได้ฉายาว่า Golden Boy (โกลเด้น บอย)
วันนี้ Sanook เลยพาทุกคนมาทำความรู้จักกับประติมากรรมที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ตอนนี้อย่าง “Golden Boy” จะเป็นอย่างไรไปดูกันเลย
Golden Boy คือใคร?
เป็นที่สงสัยสำหรับใครหลาย ๆ คน ว่าจริง ๆ แล้ว Golden Boy เป็นรูปหล่อของใคร ซึ่งถึงแม้ว่าตัวประติมากรรมจะอยู่ในสภาพที่ดีมาก แต่ก็ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าประติมากรรมดังกล่าวเป็นรูปปั้นของใคร บางก็อธิบายว่าเป็นรูปหล่อของพระศิวะ บางก็บอกว่าเป็นรูปหล่อกษัตริย์ อย่าง พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ได้ให้คำอธิบายว่า Golden Boy อาจเป็นเทวรูปขององค์พระศิวะ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีข้อบ่งชี้หลายประการที่แสดงว่า Golden Boy ไม่ใช่เทวรูป
โดยข้อบ่งชี้ที่ทำให้คาดการณ์ว่า Golden Boy ไม่ใช่เทวรูปของพระศิวะ เนื่องจากประติมากรรม Golden Boy มีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นท้องถิ่น และไม่พบสัญญาลักษณ์แทนพระศิวะไม่ว่าจะ ดวงตาที่ 3 บนหน้าผาก, อาวุธประจำกาย อย่าง ตรีศูล หรือสังวาลรูปพญานาควาสุกรี ทำให้หลายคนคิดว่าค่อนข้างแปลกสำหรับการทำเทวรูป ที่จำเป็นต้องมีสัญลักษณ์ของเทพเจ้านั้นๆ แต่ประติมากรรมนี้กลับไม่มี
ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์หลายคนจึงเชื่อว่า ประติมากรรมดังกล่าว ไม่น่าใช่เทวรูป แต่เป็นประติมากรรมของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มากกว่า ซึ่งนักวิชาการอิสระด้านโบราณคดีท่านหนึ่ง ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประติมากรรม Golden Boy ที่ค่อนข้างน่าสนใจและเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า Golden Boy คือรูปหล่อของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
โดยนักวิชาการอิสระด้านโบราณคดีท่านนี้อธิบายว่า เมื่อนำลักษณะทางศิลปะที่ปรากฎมาเทียบกับประติมากรรม Golden Boy จะเห็นได้ว่า Golden Boy มีลักษณะผ้านุ่งคลายกับภากสลักผ้านุ่งที่ปราสาทหินพิมายมากกว่าที่อื่น จึงสันนิฐานว่า Golden Boy ใช้ศิลปะเขมรแบบพิมายในการปั้น
และเมื่อดูช่วงเวลาของศิลปะเขมรแบบพิมาย จะเห็นได้ว่าตรงกับช่วงพ.ศ. 1623 - 1650 ซึ่งเป็นช่วงที่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์อยู่ จึงทำให้คาดการณ์ว่า Golden Boy จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่าง พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
บางส่วนจากโพสต์เฟสบุ๊ก:
“Golden Boy มีพัฒนาการของผ้านุ่งสั้นที่มีชายสมอรูปหางปลาด้านหน้า ผ้านุ่งสั้นที่โค้งเว้าเห็นสะดือแบบบาปวน มีเข็มขัดรัด แต่ไม่มีชายผ้าบนชายสมอแบบเรียบต่อตรงลงมาจากขอบผ้านุ่งเหนือเข็มขัด ซึ่งได้ส่งต่อให้แบบพิมาย และยังใช้ต่อเนื่องมาจนถึงแบบนครวัดตอนต้น ด้วยเหตุที่ลักษณะผ้านุ่งของGolden Boy ใกล้เคียงกับภากสลักผ้านุ่งที่ปราสาทหินพิมายมากกว่าที่อื่น จึงเรียกศิลปะเขมรแบบพิมาย”
ทำไมถึงเรียกว่า Golden Boy
ชื่อ “Golden Boy” เกิดขึ้นหลังจากที่นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ได้ใช้ชื่อนี้ เป็นชื่อซื้อขายในตลาดขายวัตถุโบราณ ซึ่งมาจากทั้งลักษณะการหล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทองทั้งองค์ ถือว่าเป็นศิลปะชั้นเยี่ยมที่สุด