น่าสนใจ! นักวิเคราะห์ส่องภาษากาย "ปูติน-สี จิ้นผิง" ใครเหนือใครกันแน่?

น่าสนใจ! นักวิเคราะห์ส่องภาษากาย "ปูติน-สี จิ้นผิง" ใครเหนือใครกันแน่?

น่าสนใจ! นักวิเคราะห์ส่องภาษากาย "ปูติน-สี จิ้นผิง" ใครเหนือใครกันแน่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเยือนจีนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ได้เน้นย้ำความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัฐบาลมอสโกและรัฐบาลปักกิ่ง ท่ามกลางสงครามที่กองทัพรัสเซียบุกยูเครน แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่าจีนอาจมองหาช่องทางในการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ของจีนกับรัสเซียที่อ่อนแอและถูกโดดเดี่ยวนี้

การพบกันของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ปิดฉากด้วยอ้อมกอดของสองสหายที่หาดูได้ยาก และสะท้อนถึงสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างกัน พร้อมพรั่งด้วยพิธีการต้อนรับยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 75 ปีของจีนและรัสเซีย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวในการหารือของสองผู้นำว่า “นี่คือทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ที่มีร่วมกันระหว่างสองประเทศเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ขยายความร่วมมือที่ให้ผลประโยชน์ร่วมกัน และปฏิบัติตามกระแสของโลกหลายขั้วมหาอำนาจและเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์”

ด้านประธานาธิบดีปูติน ยกย่องการค้าทวิภาคีที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและจีน ซึ่งแตะระดับ 240,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า “รัสเซียมีความพร้อมและมีศักยภาพอย่างไม่มีขีดจำกัด รวมทั้งเป็นฝ่ายส่งเสริมเศรษฐกิจ ธุรกิจ ความเป็นเมืองของจีนที่ไว้วางใจได้ ด้วยแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานในราคาเข้าถึงได้”

การเยือนจีนของปธน.ปูติน มีขึ้นไม่กี่วัน หลังจากปธน.สี เดินทางเยือนยุโรป ซึ่งผู้นำยุโรปพยายามที่จะโน้มน้าวผู้นำจีนให้ยุติการสนับสนุนสงครามรัสเซียต่อยูเครน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพวกเขาประสบกับความล้มเหลว ในทัศนะของเวลินา ชาคาโรวา นักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์

ชาคาโรวา กล่าวกับวีโอเอผ่านซูมว่า “จีนมอบทุ่นช่วยชีวิตให้กับรัสเซีย จีนยังปูทางให้รัสเซียไม่ถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลกด้วย รัสเซียได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมุ่งหน้าสู่ทิศทางของสงครามอันยาวนานและต้องการได้รับชัยชนะ และเราเห็นอย่างชัดเจนว่าจีนเข้าข้างรัสเซีย”

ความเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและจีน เป็นสิ่งที่ชาคาโรวาเรียกว่า “มังกร-หมีขาว” หรือ DragonBear ขยายวงกว้างไปไกลกว่ายูเครน

ชาคาโรวา อธิบายผ่านซูมว่า “สงครามรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปขณะนี้ (ยูเครน) และคล้ายกับสงครามในตะวันออกกลาง (กาซ่า) และเห็นได้ชัดในความตึงเครียดทางการทหารในอินโด-แปซิฟิก สิ่งเหล่านี้คือจุดสำคัญ ความขัดแย้งทางการทหารและสงครามที่จะเห็นได้ในบริบทของ ‘สงครามเย็น 2.0’ ระหว่างสหรัฐฯ และจีนกับรัสเซีย หรือกลุ่มก้อนมังกรหมีขาว”

ปธน.สี และ ปธน.ปูติน รวมตัวกันโดยเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ – และอุดมคติแบบเผด็จการที่คุกคามสังคมประชาธิปไตย ในมุมมองของนักเขียนด้านภูมิรัฐศาสตร์ แอนน์ แอปเปิลบาม

แอปเปิลบาม กล่าวกับวีโอเอผ่านซูมว่า “พวกเขาไม่ชอบโลกประชาธิปไตย ไม่ชอบภาษาประชาธิปไตย และอุดมการณ์แห่งเสรีภาพและความยุติธรรมและหลักนิติธรรมและความโปร่งใส สำหรับพวกเขามันคือความท้าทายกับโลกเผด็จการ และมันได้โจมตีพลเมืองทั้งสองชาติและพันธมิตรทั่วโลกของพวกเขา และเราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้”

นักวิเคราะห์มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียนั้นได้เอื้อประโยชน์ให้กับจีนอย่างมาก

แอปเปิลบาม อธิบายว่า “พวกเขาอาจมีความสนใจรัสเซียที่อ่อนแอลง รัสเซียที่อ่อนแอจะขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในราคาที่ต่ำให้ รัสเซียที่อ่อนแอจะเป็นพันธมิตรที่ถูกโน้มน้าวได้ง่าย เป็นตัวละครอันอ่อนแอในเวทีโลก และอาจเป็นสิ่งที่พวกเขา(จีน)หวังให้เป็นเช่นนั้น”

สำหรับการพบกันครั้งต่อไป ปธน.ปูตินมีกำหนดการต้อนรับปธน.สี ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ที่รัสเซียในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทั้งสองประเทศจะผนึกกำลังผลักดันแนวคิดโลกหลายขั้วอำนาจในเวทีนี้ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook