รู้หรือไม่? "เจ้าแม่กวนอิม" แท้จริงแล้วเป็น "ผู้ชาย" และไม่ได้ห้ามกินเนื้อวัวด้วย
หากพูดถึง "เจ้าแม่กวนอิม" ภาพของสตรีในชุดสีขาว มักจะเป็นสิ่งที่หลายคนต่างจดจำได้อย่างแน่นอน แต่แท้จริงแล้วนั้น เมื่อครั้งศาสนาพุทธเผยแผ่จากอินเดียสู่จีน รูปลักษณ์ของ พระอวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์กวนอิม) เป็นภาพของพระโพธิสัตว์เพศชาย เช่นเดียวกับในอินเดีย
มีการสันนิษฐานจากคติเกี่ยวกับรูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิม น่าจะมีมาตั้งแต่ สมัยสามก๊ก และ ราชวงค์จิ้น จนกระทั่งถึงสมัยหนานเป่ยเฉา รูปวาดจิตรกรรมฝาผนังและรูปปฏิมากรรมแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ปรากฏอยู่ในถ้ำม่อเกา เป็นภาพของพระอวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์กวนอิม) ที่มีลักษณะแบบเพศชาย
เดิมทีแล้วนั้น พระโพธิสัตว์กวนอิม มีรูปลักษณ์ริมฝีปากหนาและมีหนวดเครา ส่วนเหตุผลของความเปลี่ยนแปลงจากบุคลิกลักษณะของพระอวโลกิเตศวรที่เดิมเป็นเพศชายจนแปรเปลี่ยนเป็นเพศหญิงนั้น นักประติมานวิทยา สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ ได้แก่
1. พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นผู้ทรงโปรดสัตว์โลก ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และในสมัยโบราณนั้น ผู้หญิงมักได้รับการกดขี่ข่มเหงและทุกข์ทรมานมากกว่าเพศชาย จึงเกิดภาพลักษณ์ในด้านที่เป็นเพศหญิง เพื่อช่วยเหลือสตรีให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม
2. ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนโยนและมีจิตใจที่ดีงาม โดยเฉพาะความรักของผู้เป็นมารดา อันเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาการุณย์ต่อบุตร
ในด้านศิลปกรรมจีนได้สะท้อนสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แสดงถึงความเมตตากรุณา เช่น ภาพพระแม่กวนอิมพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากกิ่งหลิวในแจกัน, ภาพพระแม่กวนอิมปางประทานบุตร และภาพพระแม่กวนอิมพันมือ เป็นต้น
กวนอิม ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ กฺวันยิน ตามภาษาจีนกลาง เป็นองค์เดียวกันกับ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีต้นกำเนิดจาก พระสูตรมหายาน ผสมผสานกับตำนานเรื่องเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น
เจ้าแม่กวนอิม เป็นการแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ผสมผสานทางความเชื่อที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เนื่องจากในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นสามารถแบ่งร่างเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมาย มีทั้งปางบุรุษและสตรี
สำหรับความเชื่อเรื่องการห้ามกินเนื้อของผู้ที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม เป็นความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยจะไม่กินเนื้อวัวในช่วงเทศกาลกินเจ หรือบางคนอาจงดเนื้อวัวตลอดชีวิต และงดถวายอาหารที่มีเนื้อสัตว์ต่อท่าน เพราะเชื่อว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีความเมตตากรุณา โปรดสัตว์ ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
แต่ความจริงแล้วนั้น ความเชื่อนี้ในประเทศจีนไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดนมีการสันนิษฐานว่าความเชื่อเรื่อง เจ้าแม่กวนอิมไม่กินเนื้อนั้น ต้องย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน อิทธิพลจากซีรีส์ กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม ที่เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ผู้คนรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม ที่ในเรื่องหากใครศรัทธาในตัวเจ้าแม่กวนอิม จะต้องงดเว้นกินเนื้อสัตว์ใหญ่ หรือเนื้อวัว เพราะถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตานั่นเอง
ในส่วนของทางฝั่งประเทศจีน ก็ยังมีผู้ที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมบางส่วน ที่ได้ตั้งปณิธานในการไม่กินเนื้อวัวเช่นกัน โดยความเชื่อนี้ส่วนมากจะเป็นในเฉพาะผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุเท่านั้น