กลุ่ม "ฟอร์ตี้ฟายไรต์" ร้อง ส.ว. ให้เร่งผ่าน "ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับแก้ไข"

กลุ่ม "ฟอร์ตี้ฟายไรต์" ร้อง ส.ว. ให้เร่งผ่าน "ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับแก้ไข"

กลุ่ม "ฟอร์ตี้ฟายไรต์" ร้อง ส.ว. ให้เร่งผ่าน "ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับแก้ไข"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ เรียกร้องให้ สมาชิกวุฒิสภาไทยควรลงมติรับรองร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ..... หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม เพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ประกาศว่าให้มีการเรียกประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เพื่อออกเสียงรับรองร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ซึ่งหากมีการประกาศใช้ ก็ถือเป็นกฎหมายที่จะสนับสนุนให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

 “วุฒิสภาควรลงมติรับรองร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ตามเนื้อหาที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เพื่อประกันการเข้าถึงสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมมากขึ้นสำหรับคู่รักเพศหลากหลาย” มุกดาภา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว “เป็นโอกาสของวุฒิสภาที่จะผลักดันให้เกิดความยุติธรรมและความเท่าเทียมสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยการออกเสียงรับรองร่างพระราชบัญญัติร่างสุดท้ายนี้”

 ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาวาระสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเสียงเห็นชอบมากถึง 400 จาก 415 เสียง โดยมีเสียงคัดค้านเพียง 10 เสียง จากนั้นมีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาไทยตามลำดับ ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน 2567 วุฒิสภาก็ได้ลงมติเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติในการพิจารณาวาระแรก ด้วยเสียงเห็นชอบ 147 เสียง คัดค้านสี่เสียง และงดออกเสียงเจ็ดเสียง 

ตามร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมฉบับที่ผ่านการพิจารณาขั้นสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัตินี้ มุ่งแก้ให้เนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น โดยการใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามี” และ “ภรรยา” รวมถึงใช้คำว่า “บุคคล” แทนคำว่า “ชาย” และ หญิง” ในมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้คู่สมรสหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงสิทธิการสมรสได้อย่างเท่าเทียม ตลอดจนการเข้าถึงสวัสดิการ การรับบุตรบุญธรรม การให้ความยินยอมต่อการรักษา การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับมรดก การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของการลดภาษีและบำนาญของคู่สมรส 

ร่างพระราชบัญญัติฉบับล่าสุดมีข้อบทที่ประกันว่า คู่รักหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิเหมือนคู่สมรสอื่น ๆ โดยทันที ไม่ต้องรอการปรับเนื้อหาของกฎหมายหรือข้อบังคับอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนั้น ร่างพระราชบัญญัตินี้ยังแก้ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก โดยเพิ่มอายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี จากที่เดิมกฎหมายปัจจุบันกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ฟอร์ตี้ฟายไรต์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้จัดทำร่างฉบับล่าสุดตามเนื้อหาของร่างก่อนหน้านี้สี่ฉบับ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยรัฐบาล พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับผ่านการพิจารณาในวาระแรกของสภา จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่างจนเสร็จ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนเสนอร่างฉบับล่าสุดเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสองและสาม

 ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการสร้างครอบครัว อันธิฌา แสงชัย นักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้กล่าวย้ำในระหว่าง การเสวนาที่จัดขึ้นที่ The Fort เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 ว่า ““มันไม่ควรมีใครมากำหนดว่าครอบครัวต้องมีหน้าตาเป็นแบบไหนเท่านั้น … สำหรับพี่ ครอบครัวคือการกำหนดสร้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่การถูกกำหนดด้วยมาตรฐานบางอย่าง [ของสังคม]”

สำหรับกระบวนการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมเป็นกฎหมาย จะต้องมีการผ่านการพิจารณาสามวาระในสภาผู้แทนราษฎร และอีกสามวาระในวุฒิสภา ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นจึงมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน 

ข้อ 23 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) คุ้มครองสิทธิการมีครอบครัวและการสมรส โดยกำหนดว่า “สิทธิของชายและหญิงในวัยที่อาจสมรสได้ในการที่จะสมรสและมีครอบครัวย่อมได้รับการรับรอง”  ในฐานะรัฐภาคีของกติกา ICCPR ประเทศไทยจะต้อง “ดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อประกันความเสมอภาคแห่งสิทธิ และความรับผิดชอบของคู่สมรสในการที่จะสมรส ระหว่างการสมรส และเมื่อการสมรสสิ้นสุดลง” ข้อ 26 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ยังประกันความคุ้มครองที่เท่าเทียมด้านกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใด ๆ หลักการไม่เลือกปฏิบัติยังถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และมีผลบังคับใช้กับรัฐทุกแห่ง ในทำนองเดียวกัน มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ห้ามการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบเช่นกัน

 “ประเทศไทยกำลังสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ด้วยการก้าวขึ้นเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการสมรสของคู่รักเพศหลากหลาย” มุกดาภา ยั่งยืนภราดร กล่าว “การออกเสียงรับรองร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม เป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อยุติการปิดกั้นสิทธิอย่างเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดขวางไม่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานมาเป็นเวลานาน” 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook