อภิสิทธิ์ ย้ำปรับ ครม.ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างใคร!
นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่เพิกเฉยต่อข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ และกฎเหล็ก 9 ข้อยังใช้กับทุกพรรค ย้ำปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างใคร ยันหากมีปัญหาสุดท้ายต้องไปเลือกตั้งด้วยกัน ยอมรับกังวลปัญหานอกสภาฯ มากกว่าในสภาฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ตัดสินใจเลือกพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลต่อ ทั้งที่ถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริต ว่า หากพูดกันตามรัฐธรรมนูญถือเป็นเอกสิทธิของ ส.ส.ในการลงมติ แต่เมื่อรัฐบาลมีภารกิจที่จะต้องทำ รวมทั้ง ปัญหาอุปสรรคที่ต้องเผชิญค่อนข้างหนัก จึงจำเป็นต้องมีเอกภาพ ในเชิงทิศทางทางการเมือง และมีเสียงข้างมาก เพราะหากสภาฯ ไม่มีความเข้มแข็งพอ งานก็จะเดินต่อไม่ได้ แต่ขอยืนยันว่าไม่เคยเพิกเฉยต่อข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องที่มีการกล่าวหาเรื่องการทุจริต ก็ปรากฏว่ามีการยื่นถอดถอนเพียงเรื่องเดียว คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วง ส่วนข้อกล่าวหาอื่นๆ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมมาแล้ว หากมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน ก็จะต้องตรวจสอบต่อ และถ้าพบว่ามีอะไรไม่ถูกต้อง คนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ยืนยันว่ากฎเหล็ก 9 ข้อที่เคยประกาศไว้ ยังใช้กับทุกพรรคการเมือง
"พรรคภูมิใจไทยก็อยู่ภายใต้กฎเหล็ก 9 ข้อ และจะมีการตรวจสอบในประเด็นที่ยังสงสัยค้างคาใจ ไม่เช่นนั้นวันนี้คงไม่เอาเรื่องเขาใหญ่มาพิจารณากันนานที่สุด และผมก็ให้มีการตรวจสอบต่างหากในข้อเท็จจริง ขอยืนยันว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจมากขึ้น แล้วพรรคประชาธิปัตย์เป็นเบี้ยล่าง เพราะมีปัญหาก็ไปเลือกตั้งด้วยกันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นเบี้ยล่าง เบี้ยบน แต่การทำงานคงจะมีอุปสรรค หรือความเห็นแตกต่างเป็นครั้งคราว ถ้าตกลงด้วยเหตุด้วยผลกัน ก็ทำงานด้วยกันได้ เมื่อถึงจุดที่บอกว่า ทำงานด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องยอมรับสภาพ การเมืองก็มีเท่านี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับการชี้แจงของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ถือว่ากระจ่างหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงเรื่องรถไฟฟ้า ถือว่าลงรายละเอียดมาก และได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผูกพันที่มีต่อไจก้า และทางเลือกของรัฐบาลในขณะนั้น การตอบในสภาฯ ประเด็นอาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่เรื่องใหญ่ที่หยิบยกขึ้นมาคือเรื่องรถไฟฟ้า ก็เห็นว่าตอบได้ละเอียด ส่วนกรณีของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีประเด็นย่อยๆ ซึ่งเห็นว่า ตอบในบางประเด็นและบางประเด็นอาจจะไม่มีโอกาสตอบ จึงได้ให้มีการรวบรวมข้อมูลการอภิปราย
นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาคนอกหักภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะรัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ในส่วนของพรรค ก็เป็นคนที่พรรคพิจารณาตั้งแต่ต้นว่าเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ภายใต้การทำงานในสภาพที่ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยปกติ ก็มีความเห็นว่า คนในพรรคได้มีโอกาสสลับผลัดเปลี่ยนกันทำงาน ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 1 ปีด้วยซ้ำ และเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ควรได้รับโอกาส และบางครั้งการทำงาน ที่มีการสลับผลัดเปลี่ยน ก็สามารถที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งสิ่งที่จะเป็นตัวพิสูจน์ต่อไปคือ ความสำเร็จของงานและของภารกิจที่รัฐบาลจะทำ
ส่วนการดึงพรรคเพื่อแผ่นดินมาบางส่วน จะทำให้มั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลจะมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงที่เริ่มตั้งรัฐบาลนี้ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเสียงปริ่มน้ำ ไม่มีเอกภาพ แต่สุดท้ายงานด้านนิติบัญญัติ ได้พิสูจน์ตัวเองออกมาว่า สามารถผลักดันได้ ทั้งกฎหมาย ข้อตกลงระหว่างประเทศ และนโยบาย ซึ่งเป็นนโยบายใหญ่ๆ เช่น เรื่องการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งนักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตว่า อาจทำได้แค่เพียงนำร่องในบางพื้นที่ แต่ก็สามารถทำได้ ดังนั้น ขึ้นอยู่กับการทำงานมากกว่า ว่าเราจะทำได้หรือไม่
"ได้กำชับกับ ครม.ว่า การทำงานในวันนี้ ยากลำบากขึ้น เสียงยิ่งน้อย ยิ่งทำงานลำบาก และจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอด เช่น พอโครงการไม่ผ่าน ก็จะบอกว่า ผมไปเตะหรือขัดขาพรรคร่วมรัฐบาล แต่พอผ่าน ก็วิจารณ์ว่าฮั้วกันทุจริต ขอยืนยันว่าทั้งหมดทำตามข้อเท็จจริง และพยายามรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งบางครั้งเห็นต่างกันจริง แต่ใช้เหตุใช้ผลตัดสินกัน ส่วนใครจะตีความทางการเมืองอย่างไร ก็ถือเป็นสิทธิ์" นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่า อะไรน่ากังวลมากกว่ากัน ระหว่างการทำงานในสภาฯ ที่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ กับการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าเรื่องนอกสภาฯ สำคัญกว่า เพราะในสภาฯ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีทางออกตามระบบ และบ้านเมืองสามารถเดินต่อได้ แต่นอกสภาฯ เราไม่ทราบว่า รูปแบบที่เป็นปัญหา เกิดขึ้นจากไหน อย่างไร และถ้ารัฐบาลมีปัญหากับนอกสภาฯ ก็จะไม่เป็นผลดี ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มเล็กหรือใหญ่
ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ถูกใจนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย มากที่สุด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่ได้ถามนายเนวิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่มีรายงานว่า นปช. เตรียมกลับมาเคลื่อนไหวใน 2 เดือนข้างหน้า ว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ติดตามการเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยตลอด และได้สอบถามนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ยังพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องคง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครตอบได้ว่า การเคลื่อนไหวจะมีความรุนแรงอีกหรือไม่ แต่รัฐบาลจะทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยจะทำอย่างเต็มความสามารถ