LOVE IS LOVE: คุยกับหนึ่ง-แพท คู่รัก LGBTQIA+ จากความรักที่สังคมไม่ยอมรับ สู่สมรสเท่าเทียม

LOVE IS LOVE: คุยกับหนึ่ง-แพท คู่รัก LGBTQIA+ จากความรักที่สังคมไม่ยอมรับ สู่สมรสเท่าเทียม

LOVE IS LOVE: คุยกับหนึ่ง-แพท คู่รัก LGBTQIA+ จากความรักที่สังคมไม่ยอมรับ สู่สมรสเท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“LOVE IS LOVE มนุษย์ทุกคนสามารถรักใครก็ได้ อยากจะใช้ชีวิตกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศอะไร ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันหมด”

ท่ามกลางจักรวาลอันยิ่งใหญ่ ดวงดาวนับหลายล้านดวง ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยที่ใครสักคนจะวนมารู้จักกันและยิ่งยากเข้าไปใหญ่กับการที่เราจะตกหลุมรักใครสักคน เมื่อเราเจอคน ๆ นั้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราก็คงอยากใช้ชีวิตร่วมกับเขา และหวังให้สังคมยอมรับว่าเรารักกัน อย่างไรก็ตามมีคนกลุ่มหนึ่งต้องใช้เวลานานกว่าหลายสิบปีกว่าสังคมจะยอมรับในความรักของพวกเขา ทั้งยังต้องต่อสู้กับกฎหมาย เพื่อให้ความรักของพวกเขา “เท่าเทียม” กับคนอื่น 

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน กลุ่มชุมชน LGBTQIA + ได้มีการเรียกร้องให้กฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้เช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่านี้จะเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ แต่ข้อเสนอก็ถูกปัดตกไม่อนุญาตให้ไปต่อในหลายครั้ง จนในที่สุดเมื่อเดือนมีนาคม 2567 การต่อสู้นับหลายสิบปีก็เห็นผล หลังสภามีมติให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยสู่ความเท่าเทียมทางเพศสภาพอย่างสมบูรณ์

และเพื่อเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายไทยแล้ว วันนี้ Sanook จึงเชิญคุณหนึ่งและคุณแพท คู่รัก LGBTQIA+ ที่เพิ่งแต่งงานไปเมื่อปลายปีที่แล้ว มาร่วมถ่ายรูปพรีเวดดิ้งก่อนจดทะเบียนสมรสจริงในปลายปีนี้ รวมถึงเปิดใจคุยเกี่ยวกับความรัก มุมมองการแต่งงานและความรู้สึกหลังสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว

ครอบครัวกับการยอมรับ LGBTQIA+

คุณหนึ่ง(ณัฐณิชา สมพานต์) ได้เล่าย้อนกลับไปในสมัยเด็กว่าครอบครัวค่อนข้างยอมรับและโอเคกับการที่เป็น LGBTQIA+ ทั้งยังคอยซัพพอร์ตในเรื่องต่าง ๆ 

ต่างจากครอบครัวคุณแพทที่ในตอนนั้นยังไม่เปิดใจรับกับการเป็น LGBTQIA+ มากนัก 

“ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นสังคมที่บ้านก็จะไม่ค่อยโอเคค่ะ ตอนเด็กๆ ก็จะปิดที่บ้านตลอด ไม่ให้เขารู้ แต่กับสังคมเพื่อนก็จะเปิดบ้าง ในสมัยนั้นเขาจะมองว่าถ้าเราเป็น LGBTQ สังคมจะไม่ยอมรับ เพราะเขาคิดว่าการเป็นแบบนี้จะทำให้ชีวิตต่อไปในภายภาคหน้าอาจจะลำบากได้”

นอกจากนี้คุณแพท (ส.สมฤดี ทิพยธรรม) เองยังเคยเจอประสบการณ์ที่คนในสังคมตราหน้าว่าการเป็น LGBTQIA+ จะทำให้ชีวิตล้มเหลว

“จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเรียกเข้าพบ แล้วคุยว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนตรงนี้ได้ ก็อยากให้กลับไปเป็นผู้หญิงปกติ เพราะเขากลัวว่าเราจะไม่มีงานทำ เราก็รู้สึกว่าไม่ได้เป็นโรคเนอะ มันไม่ได้รักษาหาย เราเลือกแล้วว่าชอบแบบนี้ เราก็อยากจะเปิดเผยให้สังคมได้รู้ว่าเรารักอะไรแบบนี้ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด“

คุณแพทเสริมในตอนท้ายว่าครอบครัวค่อย ๆ ยอมรับหลังจากที่เห็นเธอคบกับผู้หญิง

เคยคิดจะไม่แต่งงาน เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง 

เมื่อถามเกี่ยวกับมุมมองการแต่งงานว่าในอดีตกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร คุณหนึ่งได้เผยว่า ในตอนแรกไม่เคยคิดเรื่องแต่งงาน เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง จึงไม่รู้จะแต่งไปทำไม

“สำหรับส่วนตัวหนึ่งตอนแรก หนึ่งไม่ได้คิดเรื่องแต่งงานเลย เพราะว่าก็อย่างที่ทราบกันว่ากฎหมายมันยังไม่ได้รองรับคู่รักเพศเดียวกันขนาดนั้น หนึ่งเลยมองว่าการสมรสกันมันไม่ใช่แค่การแต่งงานของคู่รักอย่างเดียว มันจะนำมาซึ่งสิทธิกฎหมายต่าง ๆ ในตัวกันและกัน ซึ่งในเมื่อมันยังไม่ยอมรับ หนึ่งคิดว่ามันก็ยังไม่รู้ว่าจะแต่งไปทำไม” 

อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทั้งสองตัดสินใจแต่งงานกันเมื่อปลายปีที่แล้ว เนื่องจากอยากให้เกียรติคนในครอบครัว โดยคุณแพทเปิดใจว่า “ตอนที่ขอแต่งก็ยังไม่รู้ว่ากฎหมายจะมาถึงขั้นนี้ ว่ากำลังจะผ่าน ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าให้เกียรติครอบครัว เราก็แต่งกันไปก่อน แล้วเดี๋ยวเรื่องกฎหมายเราก็รอแหละ เมื่อถึงเวลาของมัน เราก็ค่อยไปจดไปอะไรกัน”

ความรู้สึกที่ทราบว่าร่างสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวว่าร่างสมรสเท่าเทียมผ่านมติในสภาแล้ว Sanook เลยได้ถามถึงความรู้สึกของทั้งคู่หลังทราบว่าสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว เมื่อถามแววตาของทั้งคู่ดูมีประกายดีใจขึ้นมา อีกทั้งยังพูดพร้อมกันว่า “โห้ยยย ดีใจมากกก”

 ”รู้สึกเลยว่าครั้งนี้แหละผ่านจริง ๆ แน่นอน แบบมั่นใจ เราสู้กันมานานเนอะ แบบจริง ๆ เขาสู้เรื่องนี้มาเป็นสิบกว่าปี ก็สักที วันนั้นที่มีข่าวว่ามีการผ่านมาบางแล้ว คือ น้ำตาคลอเลยนะ“ คุณหนึ่งพูดพร้อมรอยยิ้ม

นอกจากนี้คุณแพทยังเสริมว่า “มีมติที่เป็นเอกฉันท์ด้วย เราเลยรู้สึกว่าโลกเรามีความหลากหลายทางเพศ เปิดกว้างมากขึ้น และยอมรับจริง ๆ สักที”

ประเด็นไหนที่อยากผลักดันเพื่อชุมชน LGBTQIA+

“ถ้าเป็นตอนนี้คงเป็นเรื่องของบุตร เพราะว่าจากอัพเดทล่าสุด สมรสเท่าเทียมมันผ่านแล้วล่ะ มีสิทธิสมรสกันได้ แต่ว่ายังมีประเด็นในเรื่องของบุตรว่าอาจไม่ได้ผ่านขนาดนั้น เดี๋ยวต้องรอดูในวาระ 2 กับ 3 ที่เขาจะเสนอเข้าไปอีกทีนึงว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่ว่าถ้าเป็นกระบอกเสียงได้ก็ อยากเป็นกระบอกเสียงในเรื่องของบุตร การรับรองบุตร เพราะหากมีกฎหมายรองรับก็จะนำมาซึ่งสิทธิในมรดกต่าง ๆ สิทธิในตัวเด็ก” คุณหนึ่งเล่า

คุณแพทอธิบายต่อว่า “และก็กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก และบุพพาการีด้วย ถ้าเกิดบุพพาการีทั้งคู่เป็น LGBTQIA+ จะมีกฎหมายในเรื่องของการรับผิดชอบบุตรที่มีร่วมกันไหม”

สำหรับการอภิปรายร่างสมรสเท่าเทียมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีมติให้คู่รักเพศเดียวกัน เป็น “คู่สมรส” กันได้ แต่ยังไม่ได้รับสิทธิเป็น “บุพการีลำดับแรก” ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถมีชื่อเป็นพ่อและแม่ของเด็กได้ โดยกมธ.เสียงส่วนมากให้ความเห็นว่าเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษานี้มากพอ จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าประเด็นนี้จะได้เข้าสภาอีกเมื่อไร และจะสำเร็จหรือไม่ 

Love is Love ทุกคนมีสิทธิที่จะรักใครก็ได้

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ sanook ขอให้คุณหนึ่งและคุณแพทนิยามความรักในครั้งนี้ ซึ่งคุณหนึ่งและคุณแพทเองก็เน้นย้ำว่า “รักก็คือรัก” ดังนั้นความรักควรเป็นสิ่งที่เราทุกคนเลือกได้ด้วยตัวเอง ไม่ควรให้เรื่องเพศมาเป็นข้อจำกัด  

คุณหนึ่งกล่าวว่า “Love is love หนึ่งมองว่าคนทุกคนสามารถรักใครก็ได้ อยากจะใช้ชีวิตกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศอะไร คือทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันหมดทุกคน อย่างที่แจ้งไปตั้งแต่ต้น ว่ากฎหมายมันถูกสร้างมาเพื่อคนทุกคน มันเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ เป็นสิทธฺิพื้นฐานมากๆที่ทุกคนควรจะได้รับ”

คุณแพทเองก็เห็นด้วย และนิยามความรักว่า “อย่างที่คุณหนึ่งบอกค่ะ Love is Love แพทก็มองมุมเดียวกัน ว่าเรามีสิทธิที่จะรัก และตั้งแต่เด็กเราเองก็อยากเปิดเผยตรงนี้อยู่แล้วด้วย ก็เลยรู้สึกว่าความรักเนี่ยมันไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ชายผู้หญิง มันเป็นเรื่องของทุก ๆ คน ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร เขาจะเป็นใคร เขามีสิทธิที่จะรัก เขามีสิทธิที่จะอยู่เคียงคู่กัน สร้างครอบครัวกันได้ค่ะ

หลังจากที่เราได้พูดคุยกับคุณหนึ่งและคุณแพท ทำให้ได้เห็นถึงมุมมองความรักของชุมชน LGBTQIA+ ที่ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง จากตอนแรกที่ไม่เคยคิดที่จะแต่งงานเพราะไม่มีกฎหมายมารองรับ จนมาถึงวันนี้ที่กฎหมายให้สิทธิสมรสเท่าเทียมแล้ว ถึงแม้ว่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคมไทยอย่างแท้จริง

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ LOVE IS LOVE: คุยกับหนึ่ง-แพท คู่รัก LGBTQIA+ จากความรักที่สังคมไม่ยอมรับ สู่สมรสเท่าเทียม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook