สสส. วิจัยพบเด็กกรุงเครียดเสี่ยงฆ่าตัวตาย-ติดยา
นักวิจัยห่วงเด็กกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังวิจัยพบปัจจัยเสี่ยงเครียด ฆ่าตัวตาย พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ติดยาเสพติด เห็นเรื่องทุจริตเป็นธรรมดา ติดเกม อยู่ก่อนแต่ง เข้าสถานพินิจเพิ่ม แนะครอบครัวให้เวลาเด็กเพิ่ม รัฐจัดสรรงบให้ท้องถิ่นดูแลสถานศึกษา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยโครงการ Child Watch จัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและแนวทางการขับเคลื่อน โครงการ Child Watch : กรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ อาคารศูนย์การประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมเด็กด้อยโอกาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้านักวิจัยทีมภาค กรุงเทพฯ ปริมณฑล กล่าวว่า ในปี 2553 จะเห็นการขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังเด็กและเยาวชน เช่น เรื่องความปรองดองแห่งชาติ เพื่อทำให้ผู้ใหญ่เลิกทะเลาะกัน รวมทั้งจะเห็นการเคารพนวัตกรรมในพื้นที่ ไม่ใช่คิดมาจากส่วนกลาง แต่ภาพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น คือ เด็กในประเทศไทยมีประมาณ 12 ล้านคน เด็กจำนวนมากถึง 2-3 ล้านคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษา อยู่สถานพินิจฯ ประมาณ 50,000 คน ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกลับมาเรียนหนังสือ อีกกลุ่มคือ ลูกแรงงานต่างด้าวและกลุ่มอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งควรจะสำรวจจัดทำแผนการดูแลเด็กๆ อย่างชัดเจน
พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เลาหพิบูลย์กุล รองหัวหน้านักวิจัยทีมภาค กรุงเทพฯ ปริมณฑล กล่าวว่า จากการวิจัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2551-2552 พบว่า เด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง (High Risk) ในด้านต่าง ๆ คือ 1.ด้านสุขภาพจิต เด็กมีอาการเครียดจนนอนไม่หลับ หรือปวดท้องร้อยละ 25-44 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภาคในปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับจำนวนเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจาก 13 คนต่อประชากรแสนคน เป็น 17 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งในประเทศไทย 3 ใน 10 ของคนไทยที่ฆ่าตัวตายคือ เด็ก สาเหตุใหญ่ในขณะนี้คือรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ส่วนในเรื่องสุขภาพจิตเคยได้รับทราบจากอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่ง ที่มีการหาเสียงประธานนักเรียน โดยบอกว่าหากได้รับเลือกจะยกเลิกเข้าแถวตอนเย็น ถ้าทำไม่ได้จะเผาโรงเรียน ปรากฏว่าได้รับเลือกเป็นประธาน ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะทำจริง แต่คงพูดเอาใจฐานเสียงเหมือนนักการเมือง
"2.ปัญหาการทุจริตคดโกงของประเทศ เด็กคิดว่าผู้ใหญ่ทุจริตคดโกงมากขึ้น พุ่งพรวด โดยเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-อุดมศึกษา คิดว่าประเทศมีการทุจริตคดโกงในระดับมาก อยู่ในช่วงร้อยละ 83-94 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 55-71 เรื่องนี้ไม่ต้องแปลกใจ เพราะในช่วงปีดังกล่าวมีการชุมนุมทางการเมือง มีการตัดสินคดีทุจริตมาก แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ การที่ผู้ใหญ่ไม่แก้เรื่องนี้ เห็นเรื่องการทุจริตคดโกงเป็นเรื่องปกติ เด็กก็จะเห็นเป็นเรื่องปกติ ถามว่า ต่อไปในอนาคต อะไรจะเกิดขึ้น" พ.ต.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
พ.ต.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า 3.พฤติกรรมการเล่นเกม เด็กและเยาวชนเล่นเกมสูงขึ้นจากร้อยละ 28-37 เป็นร้อยละ 28-40 4.พฤติกรรมทางเพศ เด็กและเยาวชนยอมรับการอยู่ก่อนแต่งเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 32-64 เป็นร้อยละ 35-61 5.การเข้าสถานพินิจฯ เด็กและเยาวชนเข้าสถานพินิจเพิ่มขึ้นเป็น 272 ต่อประชากรแสนคน จากเดิมเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 232 คนต่อประชากรแสนคน 6.การดื่มเหล้า เด็กมัธยมศึกษาตอนต้น-อุดมศึกษาดื่มเหล้า เป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 14-48 เป็นร้อยละ 21-51 และ 7.ปัญหายาเสพติด เด็กระดับประถมศึกษา-อุดมศึกษา พบเห็นการเสพยาเสพติดในสถานศึกษาสูงขึ้นจากร้อยละ 5-23 เป็นร้อยละ 11-38
พ.ต.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนด้านปัจจัยสร้างหรือปัจจัยปกป้องสูง (High Protection) ของเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น พบว่า 1.ด้านงบประมาณการศึกษาของท้องถิ่น พบว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะจัดสรรงบฯ ให้มากกว่า อปท.ขนาดเล็ก 2.ด้านครอบครัว พบว่า เวลาเฉลี่ยในการพุดคุยกับพ่อแม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 ชั่วโมง - 2 ชั่วโมงครึ่ง 3.ด้านการอ่าน มีการอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกเพิ่มขึ้น คือ 38-104 นาที 4.ชอบไปโรงเรียน อยู่ในอัตราที่สูง 5.ด้านศาสนา ไปวัดเป็นประจำในอัตราที่สูง และ 6.ด้านทัศนคติและความผูกพันกับท้อง ถิ่น พบว่า มีความรู้สึกว่าจังหวัดที่ตนเองอยู่เป็นจังหวัดที่น่าอยู่ในระดับปานกลางถึงมากร้อยละ 90-93
พ.ต.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสร้างดังกล่าว ทีมงานวิจัยได้สังเคราะห์เป็นข้อเสนอดังนี้ 1.ครอบครัวต้องให้เวลาแก่บุตรหลานอย่างพอเพียงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างแก่เด็ก สร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจให้แก่เด็ก 2.โรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนอง เด็กเป็นรายบุคคล จัดทำโครงการปกป้องและพัฒนาที่ตอบสนองความสนใจเด็กอย่างแท้จริง ปลูกฝังเรื่องจิตอาสา 3.อปท.ต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กให้มากขึ้น และเพิ่มปัจจัยสร้าง และ 4.รัฐต้องสนับสนุนการจัดสรรงบฯ แก่ อปท.ขนาดเล็ก เพื่อให้ดูแลการศึกษาที่ตอบสนองท้องถิ่นได้เอง และจัดระบบการวัดผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่มีข้อโต้เถียงน้อยลง ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่เสี่ยงโดยเคร่งครัด