"อรอนงค์" ฉายรังสี 30 ครั้ง! ต่อสู้มะเร็งต่อมไทมัส เล่าวินาทีบอกลูก แม่มีเนื้อร้าย
แฟนคลับพร้อมส่งกำลังใจให้รัวๆ สำหรับ อร-อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ นางสาวไทย ปี 2535 หลังตรวจพบเนื้อร้ายที่นำไปสู่การเผชิญกับ โรคมะเร็งต่อมไทมัส ส่งผลให้เจ้าตัวต้องเข้ารับการรักษา และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ล่าสุด! อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ ได้มีโอกาสออกมาเปิดใจผ่านรายการ โต๊ะหนูแหม่ม กับพิธีกรตัวแม่ หนูแหม่ม สุริวิภา พร้อมเล่าวินาทีชีวิตการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ที่ต้องฉายรังสีบำบัดมากกว่า 30 ครั้ง...
หลังจากทราบว่ามีเนื้อร้ายที่นำไปสู่เชื้อมะเร็ง สภาพจิตใจเป็นไงบ้าง ?
"นิ่งไปสักพักนึง มันอึ้งตรงที่เราเป็นเนื้อร้าย และมันนำไปสู่การเป็นมะเร็ง ตอนนั้นคิดว่าจะรักษายังไง จะบอกลูกยังไง จะบอกแม่ยังไง คือเราต้องบอกคนรอบข้าง เพราะตอนแรกคิดว่าคงบอกแม่ไม่ได้ ไม่อยากให้แม่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ก็เลยเลือกที่จะบอกลูกก่อน
ซึ่งตอนแรกเราบอกว่า เรามีเนื้อร้ายนิดหน่อย แต่ไม่เยอะมาก เพราะว่าเราเพิ่งเจอ ลูกคนเล็กเขาก็ให้กำลังใจ เขาบอกว่าคุณแม่ยังแข็งแรงไม่เป็นอะไรมากหรอก ส่วนคนโตก็ให้กำลังใจว่าที่คุณแม่เคยผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่ใหญ่แล้ว คงไม่ไปถึงขั้นนั้นหรอกเดี๋ยวรักษาเดี๋ยวก็หาย"
ขั้นตอนการรักษายังไงบ้างต้องมีการให้คีโมไหม ?
"พอเรารู้ว่าเรามีเนื้อร้าย ขั้นตอนที่หนึ่งคือการฉายรังสี ใช้รังสีคือการพุ่งเป้าไปตรงที่เรามีเนื้อร้าย แล้วคุณหมอก็ทำการวินิจฉัยไว้แล้วว่า ต้องรักษาทั้งหมด 30 ครั้ง ซึ่งก็ไม่น้อยนะคะ
ช่วงที่รักษาโดยการฉายรังสีคุณหมอก็บอกว่ามันจะมีผลข้างเคียง คือบริเวณที่ฉายรังสีไปมันจะมีเบิร์นมีไหม้ อาจจะมีเบื่ออาหารอยากดื่มน้ำมากขึ้น และเราก็ต้องดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อจะได้ขับปัสสาวะ คุณหมอก็ให้คำแนะนำให้ดูแลรักษาตัวเอง ทานอาหารให้มีประโยชน์ ดื่มน้ำเยอะๆ ดื่มน้ำที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพเรา อันไหนที่มีประโยชน์กับเราให้ทำไปเลย
จนฉายรังสีครบทั้งหมดแล้ว 30 ครั้ง ครบแล้วเมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งพอฉายครบทั้งหมด 30 ครั้งแล้ว ก็ต้องไปเว้น 1 เดือนเพื่อทำที CT สแกน ดูผลว่าที่เราฉายแสงไปแล้วเป็นยังไงบ้าง เนื้อร้ายตรงที่เราเป็นเป็นยังไงบ้าง ปรากฏว่าคุณหมอบอกว่าโอเคเลย สวยเลยไม่มีจุดตรงที่เป็นเนื้อร้าย เหมือนยกภูเขาออกจากอก"
พออาการดีขึ้น ต้องดูแลรักษาตัวเองขั้นตอนยังไงต่อไป ?
"เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากซึ่งเราทราบว่า ขั้นตอนในการรักษาโรคมะเร็ง ถ้าฉายรังสีเสร็จมันก็ต้องต่อด้วยการให้คีโม ซึ่งคุณหมอก็บอกว่าถ้าหลังฉายรังสีเสร็จ เราก็ต้องมาต่อด้วยการทำเคมีบำบัด ซึ่งเคมีบำบัดมันจะมีพุ่งเป้า มันจะมีกินยาที่เป็นขั้นตอน แต่คุณหมอเค้าทำให้เราอุ่นใจว่าอย่าไปพูดถึงขั้นตอนต่อไปเลย ไม่พูดถึงขั้นตอนให้คีโมให้เราสบายใจกับการฉายรังสีก่อน
ในระหว่างที่เราฉายรังสี ก็จะมีการตรวจต่างๆ มีตรวจค่าเลือด ค่าอะไรต่างๆ ซึ่งระหว่างนั้นก็ตรวจแล้วไม่มีค่ามะเร็ง เราก็เลยรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็น บางทีวิธีคิดมันก็ช่วยเราได้"
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ