ปู่วัย 81 ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเงิน 19 ล้าน จำนองบ้านอีก 3 ล้าน หมดตัวแถมเป็นหนี้

ปู่วัย 81 ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเงิน 19 ล้าน จำนองบ้านอีก 3 ล้าน หมดตัวแถมเป็นหนี้

ปู่วัย 81 ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเงิน 19 ล้าน จำนองบ้านอีก 3 ล้าน หมดตัวแถมเป็นหนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณปู่วัย 81 ถูกมิจฉาชีพหลอกเงิน 19 ล้าน สั่งให้ไปจำนองบ้านอีก 3 ล้าน รวมเป็น 22 ล้าน หมดตัวแถมเป็นหนี้ บ้านจะถูกยึด

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 9 มิถุนายน 67 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายไพรสัณต์ หรือ อ๊อด  อายุ 81 ปี อดีตหัวหน้างานด้านวางแผนธุรกิจสายงานด้านเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังถูกมิจฉาชีพใช้กลอุบายตีเนียนหลอกว่าบัญชีของคุณปู่ พัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย ทำให้ตกใจหลงเชื่อ โอนเงินให้กับมิจฉาชีพเป็นเงินสด 19 ล้านบาท หลังจากหมดตัวแล้วก็ยังถูก มิจฉาชีพใช้อุบายให้เอาบ้านไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้าน รวมทั้งดอกเบี้ยอีก 450,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเดือนละ 37,000 บาท และให้คืนเงินต้น 3 ล้านบาทที่เอาบ้านไปจำนองขายฝากไว้ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังได้เงินจากจำนองขายฝากบ้านอีก 3 ล้านบาท ก็ได้โอนเงินให้กับมิจฉาชีพไป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22 ล้านบาท

นายไพรสัณต์ หรือ ปู่อ๊อด เล่าเรื่องราวอันแสนเศร้าที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า ภรรยาเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว มีลูกชายพียงคนเดียวชื่อนายนีรนาท หรือ โอ๊ต อายุ 43 ปี ทำงานอยู่บริษัทตลาดทรัพย์ที่ประเทศสิงคโปร์ หลังเกษียณอายุแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังใหญ่เนื้อที่ 83 ตารางวา ที่อยู่ในอำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี มาด้วยดีมีความสุข จนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 67 ช่วงเวลา 14.30 น ได้มีโทรศัพท์เบอร์มือถือโทรเข้ามาหา เป็นชายแนะนำตัวว่าชื่อ นายรณฤทธิ์ รหัสพนักงาน 593108 โดยแจ้งว่าถูกแอบอ้างนำข้อมูลส่วนตัวไปเปิดบัญชีธนาคารสีชมพู สาขาห้างใน จ.อยุธยา โดยมีหมายเลขบัญชี 029-781-899XXX ซึ่งได้ถูกตรวจบัญชีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 66 โดยทางธนาคารได้ติดต่อประสานงานไปยังสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งใบรับรองการแจ้งความมายังธนาคารสำนักงานใหญ่ภายใน 2 ชั่วโมง

ต่อมาได้มีเบอร์โทรศัพท์เบอร์มือถือหมายเลข 082-717-30XX โดยผู้โทรมาอ้างว่าตนเองชื่อ พันตำรวจตรีกิตติศักดิ์ (ชื่อนามสกุล ตำแหน่ง มีตัวตนจริง คาดถูกนำชื่อมาใช้แอบอ้าง) เป็นสารวัตรงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธพระนครศรีอยุธยา ต้องการสอบปากคำ เนื่องจากได้มีการทุจริตในหน่วยงานราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นวงเงิน 11 ล้าน โดยมีนายเอนก ตำแหน่ง สจ. เป็นหัวหน้าขบวนการ (นายเอนก มีตัวตนจริง ปัจจุบันเป็น รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าถูกแอบอ้างชื่อ-สกุล) และมีผู้ร่วมทุจริตเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่-ผู้น้อยกว่าร้อยคน โดยได้มีการนำเงินจากการทุจริตมาฝากผ่านบัญชีธนาคารของปู่อ๊อด โดยมิจฉาชีพแจ้งว่า ตนเองจะได้เงินผ่านบัญชี 10% ของเงินทั้งหมด และเงินที่อยู่ในบัญชีจะต้องเป็นของกลางในคดีอาญา โดยผู้ที่แอบอ้างเป็นพันตำรวจตรี เห็นว่าตนมีอายุมากแล้ว หากต้องไปให้การสอบสวนที่โรงพักจะลำบาก เลยแนะนำให้ตนทำตามขั้นตอน ผ่านทางไลน์

จากนั้นคนที่อ้างตัวเป็นตำรวจรายนี้ได้บอกกับตนเองว่าคดีนี้เป็นคดีใหญ่ มีผู้ร่วมขบวนการเป็นทั้งตำรวจ-ทหาร-ทนายความ รวมทั้งยังได้ส่งรูปคำสั่งจากศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดโดยให้ถือเป็นความลับถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีก็จะออกหนังสือแสดงความบริสุทธิ์ให้ รวมทั้งจะมีการเยียวยาให้ตามขั้นตอนของกฎหมาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 67 ได้มีหญิงสาวอ้างเป็นนายตำรวจหญิงชื่อสุพัตรา ได้รับคำสั่งจากสารวัตรกิตติศักดิ์ มาแนะนำขั้นตอน เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีง่ายขึ้น โดยให้ตนเปิด แอป E-Banking กับธนาคารสีฟ้าและธนาคารสีเขียว โดยให้รายงานตัวกับพันตำรวจตรีกิตติศักดิ์ ผ่านทางแชตของ สภ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งมิจฉาชีพ บอกให้ตนแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการโอนเงินทรัพย์สินที่มีอยู่ไปให้ตรวจสอบ เป็นเงินสดจำนวน 19 ล้านบาท รวมทั้งบ้านที่ไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้านบาท ที่ตนเองกับภรรยา (เสียชีวิตไปแล้ว) ทำงานเก็บหอมรอมริบมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างตัว

หลังจากนั้น 2 วัน เขาก็ได้ส่งข้อความมาอีกเป็นคำสั่งของ ปปช. ว่าจะเป็นผู้ตรวจทรัพย์สินของตน พร้อมกับส่งรายชื่อข้าราชการระดับ 9 และระดับ 8 ของ ปปช. มา เขาก็สั่งให้ตนเริ่มโอนเงินโดยจะกำกับทุกอย่างเพราะตนก็ใช้สมาร์ทโฟนไม่ค่อยเป็น ปรากฏว่า พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ที่อยุธยาจะเป็นคนกำกับงทั้งหมดทุกขั้นตอนว่าให้ โอนเงินอย่างไร เริ่มแรกให้โอนเงินจากบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาทั้งหมดและให้โอนเข้า บัญชีธนาคารสีฟ้าและธนาคารสีเขียว และให้โอนไปยัง ปปช.ที่ได้อ้างไว้ทั้งหมด

พอเสร็จเรียบร้อย วันต่อๆไปพอได้สอบสวนไปหมดแล้ว และรู้ว่าปู่อ๊อดมีบัญชีในตลาดหลักทรัพย์อยู่กับ Broker 2 แห่ง ก็สั่งให้ไปขายทั้งหมด 2 แห่ง พอตนขายเสร็จก็โอนเงินไปให้ หลังจากนั้นก็สั่งให้ ไปขายฝากบ้าน ให้กับผู้ที่เขาแนะนำมาให้ ปรากฏว่ามีคนติดต่อมาจริงๆ และให้ปู่อ๊อดไปขายฝากบ้านและที่ดินที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน คือบ้านเดี่ยวหลังนี้เนิ้อที่ 83 ตารางวา ปู่อ๊อดจำนองขายฝากไปในราคา 3 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย 450,000 บาท โดยทำสัญญา 1 ปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนๆ ละ 37,000 บาท

หลังจากนั้น 2 วันก็ได้มีไลน์จากตำรวจหญิงที่พูดคุยกับปู่อ๊อดบ่อยๆ ให้พูดกับรองผู้กำกับ ที่อยุธยา รองผู้กำกับได้บอกตนว่าทางผู้ตรวจสอบได้ตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดแล้วพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็จะโอนเงินคืนทั้งหมดโดยมีเงื่อนไขอยู่ 1 ข้อ จะต้องเสียเงินอีก 4.2 ล้านบาท ให้กับทางราชการในการวางค้ำประกัน ทรัพย์สินที่โอนมา โดยบอกว่า พ.ต.ต พนักงานสอบสวน และร้อยเวร จะช่วยใช้ตำแหน่งค้ำประกันให้ครึ่งหนึ่ง 2.2 ล้านบาท และให้ตนไปหาเงินมา 2.2 ล้านบาท

ซึ่งปู่อ๊อดก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนเพราะหมดตัวแล้ว จึงได้ติดต่อลูกชายคนเดียวไปซึ่งเขาทำงานอยู่ที่ ตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ ลูกก็เลยเอะใจ เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกจนหมดตัวแล้ว วันรุ่งขึ้นลูกชายตนก็รีบบินกลับมาหา และนำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งความที่ สอท.2 เมืองทองธานี

"ตนสูญทั้งเงินและกำลังจะสูญบ้านใน 1 ปี และเสียสุขภาพจิตกินไม่ได้นอนไม่หลับ น้ำหนักลดไป 3 กิโลกรัม จนต้องกินยาแทบจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อยากจะฆ่าตัวตาย ก็อยากให้ตำรวจช่วยติดตามเงินและบ้านที่เสียไปกลับคืนมาให้ตนด้วย" คุณปู่อ๊อดกล่าวเสียงสั่นเครือ

ขณะที่นายนีรนาท หรือ โอ๊ต ลูกชายเพียงคนเดียว เปิดเผยว่า ตนรู้สึกโมโหและเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก ทำไมถึงมาหลอกลวงกันได้ขนาดนี้ เอากันให้หมดตัวเลย พอรู้ก็รีบบินกลับมาจากสิงคโปร์ทันที เพื่อมาช่วยพ่อรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆและไปแจ้งความที่ สอท. ก็อยากขอร้องพวกคอลเซ็นเตอร์ว่าอย่ามาทำกินบนหลังคนเลย ขอให้มีความเมตตาสงสารผู้คนบ้าง ในเมื่อคนไม่มีแล้ว เสียทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย ไม่เป็นอันกินอันนอน ก็อยากขอร้องพวกแก๊งมิจฉาชีพทั้งหลายหยุดเถอะอย่ามาทำแบบนี้เลย ซึ่งที่คุณพ่อโอนไปให้มิจฉาชีพทั้งหมด 22 ล้านบาท และเป็นหนี้ขายฝากบ้านอีก 3.45 ล้านบาท ก็อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ สอท.เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะว่าคุณพ่อก็อายุมากแล้ว ตอนนี้ไม่มีทรัพย์สินเหลือแล้ว ถ้าเกิดเจ็บป่วยก็จะลำบาก ก็ขอรบกวนฝากทาง สอท.ด้วย

และก็ฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้เกี่ยวข้อง เพราะในกรณีแบบนี้ทางแบงก์ทั้งหลาย สามารถใช้ระบบในการตรวจสอบได้ ถ้าหากได้ทำการรู้จักลูกค้าอย่างดีแล้ว จะสามารถสังเกตได้ว่าจำนวนเงินในบัญชีของลูกค้าเข้า-ออก กับรายได้ของลูกค้ามีความแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นทางธนาคารจะใช้ระบบ IT เพื่อตรวจจับความผิดพลาดหรือตั้งข้อสังเกตว่ามีเงิน เข้า-ออก เป็น 10 เท่าของรายได้ น่าจะทำการหยุดธุรกรรมไว้จนกว่าทางเจ้าของบัญชีจะมาแจ้งอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันให้ทางลูกค้า ไม่ให้เจ้าของบัญชีสูญเสียเงิน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องควรหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ มิเช่นนั้นก็จะมีประชาชนคนสุจริตที่ทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกไม่มีวันสิ้นสุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook