แพทย์ผิวหนังเผยการสักเจาะฝังหมุดสุดขั้วอาจเข้าข่ายโรคจิตหลงผิด

แพทย์ผิวหนังเผยการสักเจาะฝังหมุดสุดขั้วอาจเข้าข่ายโรคจิตหลงผิด

แพทย์ผิวหนังเผยการสักเจาะฝังหมุดสุดขั้วอาจเข้าข่ายโรคจิตหลงผิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์ผิวหนังเตือนระวังสงสัยแมลงไชชอน การสักเจาะฝังหมุดอย่างสุดขั้ว อาจเข้าข่ายโรคจิตหลงผิด ระบุผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไปพบแพทย์ผิวหนังมากกว่าพบจิตแพทย์ และมั่นใจว่าตัวเองหลงผิดคิดว่าผิวหนังผิดปกติจริง ปฏิเสธการรักษาทางจิตเวช

นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบกลุ่มอาการหลงผิด (delusional disorder) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตปกติกับคนอื่นๆ ได้ พูดจารู้เรื่อง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้คิดว่าตัวเองเจ็บป่วย ส่วนใหญ่จึงไม่เข้ารับการรักษา ในทางด้านโรคผิวหนังก็พบโรคจิตหลงผิดของผิวหนังได้เช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดของผิวหนังจะมาพบแพทย์ผิวหนังมากกว่าที่จะพบ จิตแพทย์ เพราะผู้ป่วยเชื่อว่าตนเองมีอาการทางผิวหนัง

โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง ได้แก่ โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง (delusions of parasitosis) ผู้ป่วยจะเล่าว่ารู้สึกว่ามีพยาธิ หรือแมลงไต่, ไชชอน, กัดผิวหนัง หรือบินออกจากผิวหนัง โดยมักเล่าประวัติอย่างละเอียด รวมทั้งย้ำคิดย้ำทำที่จะแกะตัวพยาธิออก หรือใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหิด พบบ่อยว่าผิวหนังจะเป็นแผลจากการที่ผู้ป่วยทำเอง ผู้ป่วยอาจนำของสะสมที่เป็นผ้าพันแผล, เส้นผม, เศษผิวหนังที่สะสมในกล่องเล็กๆ มาให้แพทย์ดูด้วย ผิวหนังจะมีรอยแกะเกา, ตุ่มนูน หรือแผล

นพ. ประวิตร กล่าวว่า นอกจากโรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนังแล้ว ยังมีโรคหลงผิดทางผิวหนังอื่นๆ อีกคือโรคฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ผุดออกมาจากผิวหนัง (Morgellons disease) ผู้ป่วยเชื่อฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ หรือวัสดุอื่นๆ ฝัง หรือผุดออกมาจากผิวหนัง ผู้ป่วยโทษว่าต้นเหตุเป็นวัสดุ ไม่ได้เป็นพยาธิเหมือนในกรณีแรก โรคฉันไม่สวยไม่หล่อ หรือ body dysmorphic disorders (BDD) ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ผู้ป่วยกังวลว่ามีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีความผิดปกติ หรืออวัยวะไม่ได้สัดส่วน การทำผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งบ่อยครั้งเกินไป การไปพบแพทย์ผิวหนังรักษาหน้า รวมทั้งการสัก การเจาะ การฝังหมุด การผ่าลิ้นสองแฉก และการตกแต่งร่างกายถาวรแบบสุดขั้วที่เรียกว่า extreme body modification ในบางรายที่มีลักษณะหมกหมุ่นครุ่นคิด น่าจะเข้าข่ายเป็นโรคจิตหลงผิดชนิดนี้ ส่วนโรคจิตหลงผิดว่ามีกลิ่นตัว (delusions of bromhidrosis) ผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่ากลิ่นตัว, กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด

"ผู้ป่วยมักไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความหลงผิด เพราะมั่นใจว่ามีความผิดปกติของผิวหนังจริง จึงพบบ่อยว่าผู้ป่วยปฏิเสธการรับการตรวจรักษาทางจิตเวช พบว่าการใช้ยาที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาบ้า (amphetamines) ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่, กัด หรือต่อย แต่ผู้ป่วยไม่มั่นใจว่าเกิดจากปรสิต เรียกเป็นศัพท์แพทย์ว่า formication ส่วนผู้ที่ติดโคเคนจะมีภาพหลอน (visual hallucinations) และมีความรู้สึกว่ามีแมลงคลานอยู่ในผิวหนังเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า cocaine bugs หรือ coke bugs" นพ.ประวิตร กล่าว.-

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook