กกต.ทำหนังสือให้ ศอฉ.แจงแนวปฏิบัติเลือกซ่อม ส.ส.กทม. หากยังคง พ.ร.ก.

กกต.ทำหนังสือให้ ศอฉ.แจงแนวปฏิบัติเลือกซ่อม ส.ส.กทม. หากยังคง พ.ร.ก.

กกต.ทำหนังสือให้ ศอฉ.แจงแนวปฏิบัติเลือกซ่อม ส.ส.กทม. หากยังคง พ.ร.ก.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"สดศรี" แจง "ณัฐวุฒิ" ไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. แต่ติดปัญหาต้องมาสมัครด้วยตนเอง แนะหากยังถูกคุมขังควรทำหนังสือชี้แจงเหตุไม่ไปใช้สิทธิ ไม่เช่นนั้นถูกตัดสิทธิ พร้อมเผย กกต.ส่งหนังสือขอความชัดเจนจาก ศอฉ.แนวทางการปฏิบัติหากยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เร่งให้ตอบก่อน 25 มิ.ย.นี้

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยอาจส่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงที่อยู่ระหว่างถูกคุมขังในคดีก่อการร้าย ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 กทม. ว่า คุณสมบัติของนายณัฐวุฒิไม่น่ามีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (3) และ (4) ระบุห้ามลงสมัครในกรณีที่ต้องคำพิพากษาและถูกคุมขังโดยหมายศาลเท่านั้น ซึ่งกรณีของนายณัฐวุฒิยังไม่มีคำพิพากษาของศาล ทั้งนี้ ต้องดูว่าในวันสมัครรับเลือกตั้งนายณัฐวุฒิจะมายื่นใบสมัครได้หรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.กำหนดว่าผู้สมัครต้องไปแสดงตัวด้วยตัวเอง และต้องไปจับหมายเลขที่จะลงเลือกตั้ง เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับศาลว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้มาสมัคร ส.ส.หรือไม่

ส่วนเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ที่จะอ้างว่าอยู่ในภูมิลำเนาหรือศึกษาติดต่อกันในพื้นที่ลงสมัครเป็นเวลา 5 ปีการศึกษานั้น นางสดศรี กล่าวว่า ในส่วนของ กกต.ยังไม่มีประเด็นนี้ จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน ถือเป็นดุลยพินิจของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต

นางสดศรี ยังกล่าวถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งของนายณัฐวุฒิด้วยว่า ตามมาตรา 100 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ถูกคุมขังห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดมาตรการสำหรับผู้ไม่ไปใช้สิทธิแรงกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากนายณัฐวุฒิไม่มีโอกาสไปใช้สิทธิก็ต้องทำหนังสือชี้แจง มิเช่นนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจจะเป็นผู้เสียสิทธิและไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้าได้

นางสดศรี เปิดเผยด้วยว่า กกต.ได้ทำหนังสือไปยังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน( ศอฉ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติในช่วงเวลาเลือกตั้ง ที่อาจจะขัดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ในวันสมัครรับเลือกตั้ง อาจมีผู้สนับสนุนไปเชียร์ การหาเสียงผู้สมัครอาจจัดเวทีปราศรัยหาเสียงหรือขบวนรถหาเสียงได้ การนับคะแนนอาจมีผู้มีสิทธิจำนวนมากไปชุมนุมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยาน ณ หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน ดังนั้น กกต.จึงขอทราบแนวทางในการปฏิบัติที่จะไม่ขัดต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจะได้แจ้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยในหนังสือดังกล่าว กกต.ขอให้แจ้งให้ทราบก่อนวันที่ 25 มิถุนายน เพราะจะมีการเปิดรับสมัครในวันที่ 28 มิถุนายนนี้

"การผ่อนผันการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือจะมีแนวทางอย่างไร ถือเป็นหน้าที่ของ ศอฉ.ที่จะพิจารณา เราเป็นคนตั้งปัญหาให้ ศอฉ.พิจารณา เราคงไม่ไปชี้นำ เพราะเป็นเรื่องของทางบ้านเมือง ในระบอบประชาธิปไตยต้องฟังเสียงของประชาชนเช่นกัน หากยังคง พ.ร.ก.ไว้ กกต.ก็ทำงานง่ายขึ้น เพราะเชื่อว่าเรื่องร้องเรียนจะน้อยลง ส่วนตัวเห็นว่าหากยังมีสถานการณ์อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ทั้งหมด แต่อาจจะประกาศยกเลิกบางส่วน หรืออาจจะยกเว้นเป็นการชั่วคราว หากเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่ดี ในเขตอื่นยังไม่เลิก แต่เลิกในเขต 6 เขตเดียว ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลและ ศอฉ.ต้องพิจารณา กกต.คงจะไปชี้นำไม่ได้ "นางสดศรี กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook