เปิดใจ “ดาด้า-ซัน” คู่รัก LGBTQIA+ ที่ความรักที่มาเติมเต็มความรักของครอบครัวที่ขาดหาย

เปิดใจ “ดาด้า-ซัน” คู่รัก LGBTQIA+ ที่ความรักที่มาเติมเต็มความรักของครอบครัวที่ขาดหาย

เปิดใจ “ดาด้า-ซัน” คู่รัก LGBTQIA+ ที่ความรักที่มาเติมเต็มความรักของครอบครัวที่ขาดหาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องประสบความสำเร็จถึงจะได้รับการเคารพและยอมรับ” เป็นประโยคที่ LGBTQ+ ต้องเจออยู่บ่อยครั้ง เหมือนเป็นการต้องพิสูจน์ว่าการเป็น LGBTQIA+ ไม่ได้ผิดแปลกอะไร สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าทำไม LGBTQIA+ ต้องพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้คนยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นด้วย

เช่นเดียวกับ “ดาด้า ฉัตรชฎา สุวรไตร” ทรานส์เจนเดอร์ ที่ต้องพยายามผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ต้องเก่ง เพื่อเป็นที่ยอมรับของสังคม และ “ครอบครัว” อย่างไรก็ตามมีคน ๆ หนึ่งที่คอยซัพพอร์ตและยอมรับเธอแบบไม่มีเงื่อนไข นั้นก็คือ “ซัน ธรรมรงค์ ยันตรุดร” ผู้ที่คอยอยู่เคียงข้างทั้งยามทุกข์และสุข รวมถึงเติมเต็มความรักที่ขาดหายจากครอบครัวอีกด้วย

วันนี้ Sanook จึงเชิญดาด้า และซัน มาพูดคุยถึงความรักที่ผ่านมาของพวกเขา ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันกว่าหลายปี รวมถึงเผยความรู้สึกหลังสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว 

เปิดใจ “ดาด้า-ซัน” คู่รัก LGBTQIA+ ที่ความรักที่มาเติมเต็มความรักของครอบครัวที่ขาดหาย

ครอบครัวกับการเป็น LGBTQ+

สำหรับครอบครัวของซัน เปิดกว้างในการเป็น LGBTQ+ อย่างมาก โดยซันบอกว่า เมื่อบอกกับแม่ว่าเป็น LGBTQ+ ถามว่าโอเคไหม แม่ก็บอก “โอ้ย ไม่เป็นไร พามาบ้านเลย”

ต่างจากครอบครัวของดาด้า ไม่ยอมรับการเป็น LGBTQIA+ ในตอนแรก ดาด้าเล่าว่า “ตั้งแต่แรกเลยพ่อ และญาติฝั่งพ่อแอนตี้ LGBTQIA+ มาก ๆ เลยค่ะ ซึ่งสมัยแบบพ่อหนู ถ้าเจอกะเทยที่ไหนก็จะไล่เตะ แม้แค่ได้ยินเสียงหรือแค่เจอหน้าแค่เนี่ย ก็รู้สึกไม่ชอบ เกลียด และก็พ่อก็ไม่ชอบหนู หนูก็ไม่กล้าที่จะเปิดตัวว่าเราเป็น LGBTQIA+ นะ เป็นเพศทางเลือกนะ จนเวลามันปรับเปลี่ยน ยุคมันเปลี่ยน ซึ่งก็อยู่ในยุคที่รุ่งโรจน์ก็คือการประกวดสาวประเภทสอง ก็จะมีสาวประเภทสองเข้าวงการเยอะมาก และพ่อก็จะเห็นในสื่อออนไลน์ว่า ถึงแม้ว่าลูกฉันจะเป็นแบบนี้ก็ยังสามารถเป็นคนดี สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ก็เลยเป็นสิ่งที่ทำให้ครอบครัวและก็พ่อยอมรับในสิ่งที่เราเป็นได้ค่ะ”

ดาด้าได้ประกวดเป็น Miss Trans Singburi 2024 อีกทั้งปัจจุบันยังเป็นผู้ช่วยพยาบาล

โควิดเป็นบทพิสูจน์รัก

ดาด้าและซันได้เจอกันครั้งแรกผ่านแอปหาคู่ เมื่อลองศึกษาดูใจกันก็รู้สึกว่าเข้ากันได้ดี จึงตัดสินใจคบกัน ตลอดระยะเวลาที่คบกันทั้งคู่ก็ดูแลและซัพพอร์ตกันทุกเรื่อง แม้กระทั่งในช่วงชีวิตที่ตกต่ำที่สุด ทั้งคู่ก็สามารถจับมือก้าวผ่านมันมาได้ด้วยกัน 

ช่วงโควิด มันทำให้เราเห็นเลยว่า เขาคือคนที่เราสามารถที่จะอยู่ด้วยและก็เป็นคนที่เราสามารถพึ่งพาได้จริง ๆ เพราะว่าช่วงโควิดด้าก็ตกงาน แฟนก็ตกงาน แต่เราก็ยังจับมือกัน เขาบอกว่าไม่เป็นไรเธอ เราสามารถไปต่อกันได้ เราสามารถสู้ไปด้วยกันได้ ห้าปีเนี่ยมันทำให้ด้ายืนยันได้เลยว่าเขาคือคู่ชีวิตของเราที่เราจะอยู่ด้วย และก็สามารถที่จะซัพพอร์ตกันไปได้ตลอด” คุณด้ากล่าวพร้อมน้ำตา

คุณซันเล่าเสริมถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ช่วงโควิดมันเป็นตัววัดได้ดีเลยว่าเราสองคนอยู่ด้วยกันได้ เพราะว่าเขาอยากทำอะไรผมซัพพอร์ต ผมจะเป็นคนที่ว่าไม่ได้มองสิ่งที่มันร้ายที่สุดในตอนนั้น คือจะมองแต่ในสิ่งที่ว่าเห้ย เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น มันไม่มีปัญหาไหนที่แก้ไม่ได้ ปัญหามันมีไว้ให้แก้ ถ้าเราแก้ได้ถูกทางยังไงมันก็ไปได้” 

ทั้งคู่ได้จับมือก้าวผ่านความยากลำบากนั้นมาได้ และในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2566) ทั้งสองได้ทำพิธีผูกข้อต่อแขน ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียบของชาวอีสาน เปรียบเสมือนการจัดงานแต่งงานอย่างเรียบง่าย มีการทำอาหารให้ครอบครัวทั้งสองฝ่ายมานั่งรับประทานอาหารร่วมกัน และให้ญาติผู้ใหญ่นำเชือกมามาผูกที่ข้อมือ พร้อมอวยพร

ความรู้สึกหลังสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ทั้งคู่กล่าวว่าก่อนหน้านี้มีความคิดอยากแต่งงานอยู่แล้ว จึงรู้สึกยินดีและดีใจกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทั้งเน้นย้ำว่าการที่สมรสเท่าเทียมผ่าน จะทำให้คู่รัก LGBTQIA+ ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคู่รักชายหญิง ในเรื่องของการรักษาพยาบาล

คุณด้ากล่าวว่า สำหรับด้ามันคือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจค่ะ เพราะว่า LGBTQIA+ หลาย ๆ คนต่อสู้เพื่ออยากได้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมานาน นอกจากนี้ในการมีสมรสเท่าเทียม ทำให้การรักษาพยาบาลเป็นไปได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น ในฐานะที่ด้าเป็นผู้ช่วยพยาบาล ด้าเคยอยู่วอร์ดผ่าตัด พบว่าคู่รัก LGBTQIA+ จะมีปัญหาเรื่องการยินยอมในการรักษาพยาบาลของอีกฝ่าย ซึ่ง LGBTQIA+ ไม่สามารถรับรองให้คู่ของตัวเองได้ เนื่องจากต้องเป็นญาติสายตรง ดังนั้นการที่เรามีพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมก็จะทำให้แก้ไขปัญหานี้ได้ 

คุณซันเสริมว่า “คู่ของเราซีเรียสเรื่องการเข้าโรงพยาบาลแล้วจะไม่มีใครเซ็นอย่างมาก เพราะว่าญาติของเราอยู่ต่างจังหวัดหมด และไม่มีใครที่จะบินตรงมา เพื่อเซ็นตรงนั้น เลยคิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ดีสำหรับพวกเราเลย อย่างผมก็ป่วยบ่อย ส่วนดาด้าช่วงนี้ก็เข้าโรงพยาบาลไปสองรอบแล้วในเดือนเดียว ไม่รู้ว่าวันไหนที่ว่ามันจะหนักถึงขั้นที่ว่าต้องมีการผ่าตัดเลยคิดว่า การมีพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมันช่วยเซฟเราได้เยอะ” 

ประเด็นไหนที่อยากผลักดันเพื่อชุมชน LGBTQIA+ อีกบ้าง

สำหรับประเด็นที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้น คุณด้ากล่าวว่า ในกรณีที่ต้องเข้าแอดมิดที่โรงพยาบาล หากเพศกับสรีระทางร่างกายของเราไม่เหมือนกัน เช่น เพศกำเนิดเป็นชาย แต่สรีระและเพศระบุว่าตัวเองเป็นหญิง ก็อยากให้โรงพยาบาลให้สิทธิในการให้แอดมิดในส่วนของวอร์ดผู้หญิง หรือแยกอีกวอร์ดให้กับเพศทางเลือก เนื่องจากคุณด้าเคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเล่าวว่า

“หนูเคยเจอประสบการณ์ตรง เพื่อนหนูไปแอดมิด ก็คือผ่าไส้ติ่ง ซึ่งเขาแปลงเพศ สรีระทุกอย่างทางเป็นผู้หญิงหมดแล้ว แต่คำนำหน้าของเขามันทำให้เขาต้องไปแอดมิดวอร์ดผู้ชาย ซึ่งเป็นห้องรวม ซึ่งผู้ชายที่แอดมิดก็จะมองว่า เป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิงหรือเป็นอะไร จะเกิดการแบบแซว ซึ่งเพื่อนหนูรู้สึกว่ามันไม่ใช่เซฟโซนที่ปลอดภัย เขาก็เลยอยากได้สิทธิสวัสดิการในส่วนตรงนี้ก็คือแบบถ้าสมมติว่าสรีระเรา เพศของเรามันไม่ตรงกับคำนำหน้าของเรา ก็ควรจะได้รับสิทธิสวัสดิการในส่วนของผู้หญิงไหม หรือว่าเป็นวอร์ดที่สามารถแบ่งออกที่ไม่ใช่วอร์ดผู้ชาย เพราะว่ามันก็เหมือนเป็นการคุกคามเขาอีกอย่างหนึ่ง เขารู้สึกแบบไม่โอเค ทั้งด้านร่างกายและก็จิตใจด้วย”

นอกจากนี้ดาด้ายังกล่าวว่ามีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากผลักดันให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อกลุ่มชุมชน LGBTQIA+ เท่านั้น แต่เพื่อประชาชนทุกคนด้วย คือ อยากผลักดันให้รัฐเข้ามาดูแลสิทธิการเข้ารักษาพยาบาลให้เข้าถึงได้ทุกคนมากยิ่งขึ้น ให้ครอบคลุมทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย 

ความรักที่เติมเต็มส่วนที่หายไป

Sanook ถามดาด้า และซัน ว่ามีอะไรที่อยากขอบคุณกันและกันไหม 

ก็ขอบคุณเขามาก ๆ ค่ะ ที่เขาเข้ามาเติมเต็มในส่วนหนึ่งของชีวิตของด้า ด้าก็เป็นคนหนึ่งที่ขาดความรักมาตั้งแต่เด็ก ทางครอบครัวก็คือไม่ได้แสดงออกเหมือนครอบครัวอื่น ๆ ว่าเขารักเรา หรืออะไรอย่างเงี้ย เพราะว่าแม่หนูก็เป็นคนที่ขี้อาย ด้าก็อยู่กับยายมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ขวบหนึ่ง แม่เพิ่งกลับมาจากทำงานตอนด้าได้อายุ 13 ปีค่ะ มันก็จะไม่มีโมเมนต์ที่น่ารัก มันไม่มีโมเมนต์นั้น เพราะว่าเขาก็ไม่ได้แสดงออกให้เราเห็น แต่พอมาเจอเขา (คุณซัน) ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้รับความรักแบบเต็มเปี่ยม นอกจากครอบครัวแล้ว ก็มีเขานี่แหละค่ะที่เติมเต็มความรักของเราค่ะ” คุณด้ากล่าวด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง 

ด้านคุณซัน กล่าวว่าผมก็อยากขอบคุณในส่วนของที่ว่าเข้าใจในสิ่งที่ผมเป็น เข้าใจในสิ่งที่ว่านิสัยเรามันไม่ค่อยเหมือนคนอื่น เป็นคนเข้าใจยากสักนิดนึง เขาก็พยายามจะเข้าใจตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็เข้าใจบางไม่เข้าใจบ้างอะไรประมาณนี้ ก็ขอบคุณที่ว่าอยู่ข้างกันตลอด คอยซัพพอร์ตในเรื่องของที่บ้านในช่วงที่ว่าพ่อเพิ่งเสีย เขาเป็นคนที่ซัพพอร์ตได้ดีมากในตอนนั้น เพราะผมไม่มีสติอะไรเลยตอนนั้น ก็ขอบคุณที่อยู่ข้างกันจนถึงทุกวันนี้นะ” 

หลังจากที่ได้พูดคุยกับดาด้าและซัน ทำให้เราเห็นอีกมุมมองหนึ่งของความรัก ที่ถึงแม้จะมีปัญหาเข้ามาแต่ถ้าจับมือกันแน่นพอก็สามารถก้าวผ่านไปได้ อีกทั้งยังได้เห็นแง่มุมของ LGBTQIA+ ที่ต้องพยายามทำตัวให้ประสบความสำเร็จเพื่อครอบครัวจะได้ยอมรับกับการเป็นเพศ LGBTQIA+ อีกด้วย 

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ เปิดใจ “ดาด้า-ซัน” คู่รัก LGBTQIA+ ที่ความรักที่มาเติมเต็มความรักของครอบครัวที่ขาดหาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook