ทำไมต้องใช้ "ไม้จันทน์" ทุบประหารผู้ที่เป็นจ้าวมีฐานันดร?

ทำไมต้องใช้ "ไม้จันทน์" ทุบประหารผู้ที่เป็นจ้าวมีฐานันดร?

ทำไมต้องใช้ "ไม้จันทน์" ทุบประหารผู้ที่เป็นจ้าวมีฐานันดร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'จันทน์' คือไม้หอมราคาสูง สมัยโบราณนอกจากนำมาทำสิ่งก่อสร้าง เช่น วัง, ตำหนัก ฯลฯ ยังใช้ทำโกศและหีบบรรจุศพ ตลอดจนเป็นเชื้อเพลิงเผาศพ

'พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง' ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร กล่าวถึงอีกบทบาทหนึ่งของไม้ชนิดนี้ว่า

"ใช้เป็นไม้สำหรับทุบประหารผู้ที่เป็นจ้าวมีฐานันดร โดยมีคติว่าผู้ที่เป็นจ้าวจะประหารให้เลือดตกด้วยของมีคมไม่ได้ และท่อนไม้จันทน์ที่ใช้เป็นเครื่องมือประหารก็จะต้องห่อหุ้มด้วยผ้าแดง" (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เหตุผลที่ใช้ท่อนจันทน์ประหารเจ้านายแทนของมีคม ผู้เขียนจำได้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เคยอธิบายให้ฟัง ดังนี้

"ไทยเรามีความเชื่อว่าจะประหารเจ้านายด้วยของมีคม เช่น มีดหรือดาบให้เลือดตกถึงพื้นดินไม่ได้ เพราะจะเกิดอุบาทว์หรือสิ่งอัปมงคลในบ้านเมือง ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง เช่น ข้าวยากหมากแพง, ขาดแคลนอาหาร, เกิดโรคภัยและภัยธรรมชาติอย่างไม่เคยเป็นมา, ผู้คนเข่นฆ่ากันเอง, แผ่นดินไหวแตกทำลาย เดือดร้อนวุ่นวายไปทั่ว"

ไม้จันทน์ หรือ 'ท่อนจันทน์' ในสมัยโบราณเป็นเครื่องมือประหารหรือสำเร็จโทษเจ้านายตั้งแต่กษัตริย์, พระมเหสี, พระโอรสธิดา ไปจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ใช้ตีหรือทุบ ลักษณะของท่อนจันทน์บันทึกไว้ในหนังสือ 'สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์' ของปรามินทร์ เครือทอง ตอนหนึ่งว่า "เป็นไม้ค้อนขนาดใหญ่ที่มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง รูปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม หลังจากพิธีประหารชีวิตเสร็จสิ้น จักใส่ไปในหลุมศพด้วย"

ไทยเลิกใช้ท่อนจันทน์เป็นเครื่องมือประหารมาแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำเร็จโทษด้วย..."ท่อนจันทน์"

การประหารชีวิตแบ่งชนชั้นกันด้วย คือ ถ้าเป็นเจ้านายใช้ท่อนจันทน์ประหาร คือตีด้วยท่อนจันทน์ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ใช้ดาบฟันคอ

ตามกฎหมายโบราณที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้บัญญัติการลงโทษเจ้านายไว้ตอนหนึ่งว่า

"ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทลวงฟันหลัง แลนายแวงหลังเอาไปมล้างในโคกพญา นายแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดู หมื่นทลวงฟัน กราบ 3 คาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงขุม นายแวงทลวงฟันผู้ใดเอาผ้าทรงแลแหวนทอง โทษถึงตาย เมื่อตีนั้น เสื่อขลิบเบาะรอง"

มาตรา 176 ของกฎมนเทียรบาล ในกฎหมายตราสามดวง บัญญัติการลงโทษเจ้าฟ้าและเจ้านายชั้นสูงไว้ ดังนี้จะเห็นว่าการตีด้วยท่อนจันทน์ได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

ทำไมจึงต้อง.. ท่อนจันทน์?

การที่คนไทยเราไม่นิยมใช้วิธีประหารชีวิตเจ้านายด้วยการตัดศีรษะ เนื่องมาจากไม่ต้องการให้เลือดตกถึงพื้นดินนั่นเอง ดังนั้น จึงหาทางประหารด้วยการทุบด้วยท่อนจันทน์ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเลือดตกลงแผ่นดินให้เป็นอุบาทว์แก่บ้านเมือง

ลักษณะท่อนจันทน์ ไม้ค้อนขนาดใหญ่ที่มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง รูปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม หลังจากพิธีประหารชีวิตเสร็จสิ้น จักใส่ไปในหลุมศพด้วย

ขั้นตอนการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

- ต้องพันธนาการร่างแล้วสวมถุงแดงตั้งแต่พระเศียรลงไปตลอดปลายพระบาท เอาเชือกรัดถุงให้แน่น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดจับต้องพระวรกายและมิให้ผู้ใดเห็นพระศพ แม้แต่เพชฌฆาต
- หมื่นทลวงฟันทำการไหว้ครู และขอขมาต่อนักโทษ
- ทุบท่อนจันทน์บนพระนาภี (ท้อง) หรือ พระเศียร (หัว) คล้ายท่าตำข้าว
- นำพระศพฝังในหลุมซึ่งจัดเตรียมไว้ที่โคกพญา แล้วจัดเจ้าพนักงานเฝ้ารักษาหลุม 7 วัน เพื่อมั่นใจว่าสิ้นพระชนม์ หรือ ป้องกันการชิงพระศพ

รายพระนามผู้ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

- สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระรัษฎาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระศรีเสาวภาคย์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 23 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 25 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 26 แห่งกรุงศรีอยุธยา
- เจ้าพระขวัญ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ
- เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
- พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด พระราชบุตรในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์
- กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าพระองค์ถูกตัดพระเศียร)
- พระองค์เจ้าชายอรนิกา พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (รัชสมัยรัชกาลที่ 2)
- เจ้าจอมมารดาสำลี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นพระมเหสีในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลที่ 2
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากระษัตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (เป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้)

ที่มาจาก
ปรามินทร์ เครือทอง (2545) สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ส.พลายน้อย หนังสือ "เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook